นักวิจัยมทส.ค้นพบครั้งแรกของโลกในงานวิจัยจีโนมปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม
นักวิจัย มทส. ค้นพบความมหัศจรรย์ของแบคทีเรียสายพันธุ์ DOA9 ครั้งแรกของโลก เผยจีโนมกลไกของปุ๋ยชีวภาพ ไรโซเบียม เกิดองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ บอกถึงวิวัฒนาการของแบคทีเรียที่ไม่สังเคราะห์แสง มีการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่รอดร่วมกับพืชตระกูลถั่วได้หลากหลายชนิดและรวมทั้งต้นข้าว หวังศึกษาต่อยอดศักยภาพเพื่อพัฒนาการผลิตข้าวที่ลดการใช้ปุ๋ยเคมีให้มากที่สุด
วันนี้ (10 มิถุนายน 2558) เวลา 10.00 น. ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จังหวัดนครราชสีมา ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส.เป็นประธานการแถลงข่าว กล่าวว่า “มทส. เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุน นักวิจัย คณาจารย์ และนักศึกษา ในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรของ มทส. ถือว่าเป็นสาขาหนึ่งที่มีผลงานทางวิชาการที่มีความโดดเด่นมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นด้านสะเต็มเซลล์ การโคลนนิ่ง และในปัจจุบันถือว่า เราเป็นผู้นำด้านจึโนมเกี่ยวกับเกษตรจุลินทรีย์ระดับต้นของประเทศ รวมถึงผู้นำในภูมิภาคอาเซียน การที่นักวิจัย มทส. ได้ค้นพบเกิดองค์ความรู้ใหม่เผยกลไกจีโนมของปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม และศักยภาพเพื่อพัฒนาการผลิตข้าวนี้ ชี้ให้เห็นถึงความสามารถของนักวิจัยไทยมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ อันเริ่มจากการความร่วมมือในระดับประเทศคือ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมถึงการแสวงหาความร่วมมือกับห้องปฏิบัติการด้านชีวภาพกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก จากประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และประเทศเยอรมนี เป็นต้น ทั้งยังเป็นงานวิจัยที่มีแนวโน้มพัฒนาศักยภาพเพื่อการผลิตข้าว ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศอีกด้วย ซึ่งคาดหวังว่า ทีมนักวิจัย มทส. ได้จะนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างผลงานที่น่าสนใจสู่ประชาคมวิจัย และประชาคมโลกในอนาคคตอันใกล้
ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. เปิดเผยว่า จากการที่มนุษย์เริ่มตระหนักถึงสุขภาพมากขึ้นบริโภคอาหารที่ปลอดสารพิษหรือสารเคมี ทำให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ปัจจุบันปุ๋ยชีวภาพที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันชนิดหนึ่งก็คือ ปุ๋ยไรโซเบียม (Rhizobium) ที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชตระกูลถั่วโดยอาศัยประโยชน์จากแบคทีเรียไรโซเบียม ที่มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนในการผลิต คณะผู้วิจัย ได้ให้ความสนใจ และประสบความสำเร็จในการแยกแบรดดี้ไรโซเบียม (Bradyrhizobium sp.) สายพันธุ์ DOA9 ซึ่งเป็นแบคทีเรียในกลุ่มไรโซเบียมที่ไม่สังเคราะห์แสงได้จากปมของต้นโสนขนที่มักพบเจริญเติบโตได้ทั่วไปในนาข้าว ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ ที่แตกต่างไปจากไรโซเบียม ชนิดอื่นๆ คือสามารถเข้าสร้างปมกับถั่วในหลายกลุ่ม เช่น ต้นคราม ถั่วฮามาต้า ถั่วซิราโต้ ถั่วโลตัส และถั่วเขียว ยิ่งไปกว่านั้นทีมนักวิจัยยังพบว่า DOA9 มีความสามารถในการเข้าอาศัยอยู่ในเนื้อเยื้อพืชอื่นที่ไม่ใช่ถั่ว เช่น ข้าว หรือที่รู้จักกันในนาม Endophyte น่าสนใจที่สุดก็คือ DOA9 เป็นแบคทีเรียในจีนัส แบรดดี้ไรโซเบียม ตัวแรกของประเทศไทยที่ได้มีการอ่านลำดับเบสจีโนม (whole genome analysis) อย่างสมบูรณ์ เหล่านี้ทำเกิดการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ในด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานทางชีวภาพ ซึ่งจากผลงานการค้นพบครั้งนี้ เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มทส. ได้ส่งนักศึกษา และนักวิจัยไปปฏิบัติการทดลองร่วมกับทีมนักวิจัยของห้องปฏิบัติการชั้นนำที่ประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลาหลายเดือน กระทั่งสามารถตีพิมพ์ผลงานวิจัยวารสารนานาชาติ เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในแวดวงวิชาการด้านชีวภาพระดับโลก
“โดยสรุปก็คือเกิดสิ่งมหัศจรรย์ค้นพบครั้งแรกของโลก สองประการคือ ประการที่หนึ่ง เป็นยีนส์ที่สร้างปม และตรึงไนโตรเจนอยู่บนอยู่บนพลาสมิดขนาดใหญ่ (magaplasmid) ไม่ใช่อยู่บนโครโมโซมเพียงอย่างเดียวตามปกติ และประการที่สอง ไรโซเบียมสายพันธุ์นี้สามารถเข้าไปอาศัยอยู่ในข้าวได้ด้วย ซึ่งแตกต่างจากยีนส์ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของแบคทีเรียในกลุ่มแบรดดี้ไรโซเบียม ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้หลายชนิดเพื่อความอยู่รอด นอกจากนี้ ทีมวิจัย มทส. ได้ให้ความสนใจศึกษาต่อไปว่า กลไกอะไรทำให้เข้าไปอาศัยอยู่ในต้นข้าวได้ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีว่าจะสามารถพัฒนาศักยภาพไปสู่เสริมความเข้มแข็งของการผลิตข้าวได้ในอนาคต ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีชีวภาพของโลกในแถบทวีปยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่น ซึ่งมีความหวงแหนในสายพันธุ์ข้าวของตนเองสูงมาก ได้เกิดการรวมกลุ่มนักวิจัยที่ตื่นตัวอย่างมาก ได้ทุ่มสรรพกำลังในการเร่งศึกษาพัฒนาปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมเพื่อเสริมสายพันธุ์ข้าวที่แข็งแรง สร้างภูมิต้านทานโรค และนักวิจัยมองไปไกลถึงความสามารถในการที่ต้นข้าวสามารถสร้างปุ๋ยเพื่อการเจริญเติบโตได้ด้วยตนเองลดการใช้ปุ๋ยเคมีในที่สุด สิ่งเหล่านี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกรไทย คงต้องตระหนักร่วมกันว่า การวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานเหล่านี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อการผลิตข้าวสู่ตลาดโลก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำของโลกในการผลิตข้าวเพื่อการส่งออก เป็นครัวโลกต้องหันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาการผลิตข้าวอย่างจริงจัง เพื่อความสามารถในการแข่งขันได้ในประชาคมโลกต่อไป” ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง กล่าวในที่สุด