มทส. จับมือ สถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง (IHEP) ประเทศจีน ร่วมโครงการ JUNO พัฒนาคนและงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มทส. จับมือ สถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง (IHEP) ประเทศจีน

ร่วมโครงการ JUNO พัฒนาคนและงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมด้วยผู้บริหาร ประกอบด้วย รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชน ผู้อำนวยการศูนย์กิจการนานาชาติ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผน รองผู้อำนวยการเทคโนธานี ผู้จัดการสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ผู้จัดการสำนักงานผู้อำนวยการเทคโนธานี หัวหน้าส่วนแผนงาน และผู้บริหารสำนักงบประมาณ ประกอบด้วย นางดรงรัตน์ กล้าหาญ ผู้อำนวยการสำนักจัดทำงบประมาณด้านการศึกษา 2 นางอมรรัตน์ ภูมิวสนะ นักวิเคราะห์งบประมาณชำนาญการพิเศษ นางเกสร ผลงาม นักวิเคราะห์งบประมาณชำนาญการ ได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับ Institute of High Energy Physics (IHEP) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา

ในการศึกษาดูงานที่นี่ ทางคณะได้รับเกียรติจาก Prof. Luo Xiao’an, Deputy Director และคณะผู้บริหารของ IHEP ในการต้อนรับและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลและการบริหารจัดการ IHEP โดยประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการวางแผนในการเป็นผู้นำและการศึกษาด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์พลังงานสูงล่วงหน้ามากกว่า 30 ปี และได้รับฟังความก้าวหน้าของโครงการวิจัยใหญ่ระดับนานาชาติ เช่น โครงการ Beijing Electron Positron Collider II (BECP II) ที่นำไปสู่โครงการ Circular Electron Positron Collider (CEPC) และ Super proton-proton Collider (SPPC) ที่เป็นอภิมหาโครงการทางด้านฟิสิกส์ขั้นสูงในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าที่ European Organization for Nuclear Research (CERN) สามารถศึกษาได้

นอกจากนั้นแล้ว Prof. Jun CAO ได้บรรยายเกี่ยวกับการตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนที่แม่นยำ Jiangmen Neutrino Underground Observatory (JUNO) ซึ่งในปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศไทยที่ได้เป็นสมาชิกของโครงการนี้ที่เป็นความร่วมมือระดับโลก (world class collaboration) และนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระดับอุตสาหกรรม (industrial-scale hardware development) โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT เข้าร่วมด้วยในฐานะผู้ร่วมสังเกตการณ์ (observers)  โครงการ JUNO  เป็นโครงการสำคัญที่ทำให้มนุษยชาติเข้าใจฟิสิกส์พื้นฐานในระดับที่ลงลึกมากยิ่งขึ้น เช่น ทำไมพระอาทิตย์ถึงส่องสว่าง และ supernova ระเบิดได้อย่างไร เป็นต้น นอกจากนี้ทั้ง IHEP และ SUT ยังหารือร่วมกันในการรับนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อ การทำวิจัยร่วมกัน การรับคณาจารย์และนักวิจัยหลังปริญญาเอกจากหลากหลายสาขาวิชาทั้งในด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์

หลังจากนั้น คณะได้เข้าเยี่ยมชมอาคารสถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่สำคัญของ IHEP ได้แก่ Photomultiplier Laboratory (PMT) Beijing Electron Positron Collider II (BEPCII) และ Beijing Synchrotron Radiation Facility (BSRF) ซึ่งมหาวิทยาลัยจะได้มีความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อร่วมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและการวิจัย ตลอดจนการผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรวิจัย ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไปในอนาคต


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง