มทส. เปิดตัว ฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรม ขนาดกลางและใหญ่ ยกระดับและเพิ่มมูลค่าไข่ผำเพื่อการผลิตโปรตีนทางเลือกสู่ Super Food

มทส. เปิดตัว “ฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรม” ขนาดกลางและใหญ่

ยกระดับและเพิ่มมูลค่าไข่ผำเพื่อการผลิตโปรตีนทางเลือกสู่ Super Food

บูรณาการเทคโนโลยี ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และมาตรฐาน พร้อมถ่ายทอดสู่เกษตรกร

 

18 กันยายน 2567 ณ อาคารเกษตรภิวัฒน์ ฟาร์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ภายใต้การนำของ รศ. ดร.อนันต์ ทองระอา  อธิการบดี พร้อมด้วย ผศ. ดร.อารักษ์ ธีรอำพน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และคณะ เปิดตัว “ฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรม” ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่คำนึงถึงการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice ; GAP) ซึ่งจะทำให้ได้ไข่ผำ สด สะอาด ได้มาตรฐาน ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และคำนึงถึงการจัดการฟาร์มแบบ Bio-Circular-Green ด้วยการนำไข่ผำที่ในอดีตเป็นเพียงผักพื้นบ้านมายกระดับให้เป็นผักเศรษฐกิจใหม่ และพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชมูลค่าสูง การใช้ทรัพยากรการผลิต อาทิ น้ำเลี้ยง น้ำล้าง ปุ๋ย และแรงงานน้อย ขณะที่ทรัพยากรการผลิตบางส่วนสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้อีก จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ปัจจุบันไข่ผำถูกมองเป็น Super Food  Future Crop เพราะมีฤทธิ์ทางเภสัชมากและคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะโปรตีน ซึ่งหากเลี้ยงด้วยเทคโนโลยีที่ มทส. แนะนำสามารถให้โปรตีนสูงถึง 61.7% ของน้ำหนักแห้ง ไข่ผำเป็นพืชน้ำที่จัดการด้านเขตกรรมได้ง่าย ศัตรูน้อย แตกหน่อเร็ว อายุเก็บเกี่ยวสั้น จึงทำรอบเลี้ยงได้ง่ายและได้ถี่ หากผู้เลี้ยงมีการจัดการฟาร์มและการตลาดที่ดีจะสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาอันสั้น ไข่ผำเหมาะเป็นโรงงานผลิตพืชอาหารโปรตีนสูงสำหรับครัวเรือน ชุมชน และอุตสาหกรรมอาหารทั้งในระดับชุมชน ภูมิภาพ ประเทศ และโลก

 

 

ผศ.ดร.อารักษ์ ธีรอำพน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนักวิชาเทคโนโลยีการ เกษตร มทส. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า “จากกระแสการให้ความสนใจบริโภค “ไข่น้ำ” หรือ “ไข่ผำ” (Wolffia) ซึ่งถูกมองเป็น Future Food  ด้วยถูกจัดเป็นอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  “ไข่ผำ” มีจุดเด่นคือ ย่อยและดูดซึมง่าย ใยอาหารสูง แคลอรี่และไขมันต่ำ ไขมันดีมีมากกว่าโปรตีนสัตว์ เหมาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ควบคุมค่าคอเลสเตอรอล ผู้ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยโปรตีนจากสัตว์ได้ กลุ่มผู้สูงวัยที่ต้องการโปรตีนเสริมมวลกล้ามเนื้อแต่ย่อยง่าย กลุ่มผู้มีปัญหาระบบขับถ่าย เป็นต้น   

มทส. ทำการวิจัยและบริการวิชาการเกี่ยวกับ “ไข่ผำ” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เริ่มจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไข่น้ำปลอดภัยแบบใช้น้ำน้อยทั้งน้ำเลี้ยงและน้ำล้าง  ศึกษาสภาพแวดล้อมการเลี้ยงไข่ผำแบบบ่อลอยในระบบเปิด กึ่งปิด และระบบปิด การเลี้ยงด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยไฮโดรโปนิกส์ การเลี้ยงในแนวระนาบและแนวตั้ง การเลี้ยงภายใต้สภาพแสงแดดและแสงไฟเทียม ขณะที่เทคโนโลยีการแปรรูปเน้นการหาสภาวะที่เหมาะสมในการทำไข่น้ำอบแห้งพร้อมใช้ และการพัฒนาอาหารจากไข่ผำ ศึกษาสัณฐานวิทยาของไข่ผำซึ่งเป็นพืชดอกที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ศึกษาลักษณะการเจริญเติบโต และการกระจายพันธุ์  จากการสนับสนุนทุนวิจัยของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เพื่อวิจัยและพัฒนาโครงการ “การขยายขนาดระดับการผลิตไข่น้ำปลอดภัยโปรตีนสูงด้วยเทคโนโลยีบูรณาการเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร” จึงเป็นที่มาของ “ฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรม” ในวันนี้

 

 

สำหรับจุดเด่น “ฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรม” ที่พัฒนาโดย มทส. เป็นเทคโนโลยีการผลิตไข่ผำปลอดภัยโปรตีนสูงแบบผสมผสาน ประกอบด้วย 5 ระบบหลัก ดังต่อไป

1 ระบบ DFT/AP (Deep Flow Technique with Air Plus) เป็นการเลี้ยงไข่ผำด้วยปุ๋ยไฮโดรโปนิกส์ สูตร SUT-NS6 ระดับความเข้มข้น 0.5 มิลลิซีเมนต์/เซนติเมตร ได้ผลผลิตไข่ผำสดคุณภาพสูง ปลอดภัย โปรตีนสูงมากกว่า 40 % ของน้ำหนักแห้ง มีสีเขียวสม่ำเสมอ ไร้กลิ่นไม่พึงประสงค์

2. ระบบการเก็บเกี่ยวกึ่งอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยว ประหยัดต้นทุนเวลา แรงงานและน้ำ

3. ระบบเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศและน้ำเลี้ยง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการวิเคราะห์ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบในกระบวนการผลิตไข่ผำของฟาร์มได้อย่างแม่นยำ

4. ระบบทำความสะอาดไข่ผำสด เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ไข่น้ำ สด สะอาด ปลอดภัย พร้อมใช้ และยืดอายุการเก็บรักษา/วางจำหน่าย โดยใช้ทรัพยากรน้ำและไฟฟ้าในกระบวนการผลิตน้อยที่สุด และมีการวางระบบน้ำล้างไปใช้ประโยชน์ในส่วนอื่นของฟาร์มต่อไป

5 ระบบการอบแห้งและทำผง มีการศึกษาสภาวะการอบไข่ผำให้แห้งโดยยังคงให้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูง สีไข่ผำเขียวสม่ำเสมอ ระดับความชื้นของไข่ผำอบแห้งเป็นไปตามความต้องการของการใช้ประโยชน์

 

“ฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรม โดย มทส.” ถูกออกแบบ ติดตั้ง วางผังและวางระบบฟาร์มแบบสั่งตัด  การจัดการฟาร์มง่ายแต่สอดคล้องกับมาตรฐาน GAP   การวางผังฟาร์มเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด บนหลักการ 0 waste, 0 mile และ less for mire (ทำน้อยได้มาก)  เป็นฟาร์มต้นแบบที่มีกำลังการผลิตบ่อขนาดกลางและขนาดใหญ่สูงสุดเท่ากับ 0.5 ตันสด/ปี/บ่อ 20 ตร.ม และ 2.6 ตันสด/ปี/บ่อ 100 ตร.ม. ตามลำดับ เหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เกษตรกรสูงวัย วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการเกษตรรายเล็กและรายใหม่ สามารถนำต้นแบบนี้ไปขยายผลเชิงพาณิชย์ นอกจากเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้แล้ว ยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบต้นน้ำ/ไข่น้ำปลอดภัยโปรตีนสูงเสถียรสำหรับอุตสาหกรรมอาหารคนและอาหารสัตว์อีกด้วย

“จากผลสำเร็จจากผลงานวิจัยนี้ก่อให้เกิดผลกระทบ ดังนี้ 1. ทุกภาคส่วน อาทิ ประชาชน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตไข่ผำปลอดภัยโปรตีนสูงเชิงพาณิชย์ของ มทส.   2. มทส. มีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของประเทศเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเกษตรแห่งอนาคต ผ่านช่องทางการสัมมนาทางวิชาการ การร่วมพัฒนางานวิจัย การเรียนการสอน การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยการจัดหลักสูตรอบรม การให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เป็นต้น  3. มทส. สร้างโอกาสทางการตลาดของอุตสาหกรรมอาหารโปรตีนจากพืช ด้วยการเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้ผลิตไข่ผำสดพร้อมใช้/ไข่ผำอบแห้งตามสั่ง กับ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการวัตถุดิบที่มีความเสถียรทั้งคุณภาพและปริมาณ ในราคาที่แข่งขันกับโปรตีนพืชชนิดอื่นได้  สำหรับประชาชน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  ผศ.ดร.อารักษ์ ธีรอำพน อีเมล์ arak@sut.ac.th โทรศัพท์      06-3645-6494,  สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. จังหวัดนครราชสีมา

ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.

18 กันยายน 2567

 
 

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง