มทส. ร่วมกับ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา อบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี ยกระดับการผลิต ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ขับเคลื่อน BCG สู่การสร้างผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง แก่เกษตรกร 32 อำเภอ

มทส. ร่วมกับ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา

อบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี ยกระดับการผลิต ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่

ขับเคลื่อน BCG สู่การสร้างผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง แก่เกษตรกร 32 อำเภอ

 

เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา จัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ กิจกรรมหลัก ยกระดับการผลิตด้วยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ กิจกรรมย่อย ขับเคลื่อน BCG (Bio – Circular – Green Economy) สู่การสร้างผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง  ได้รับเกียรติจาก นางสมพิศ ทองดีนอก เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการอบรม และ รศ. ดร. วรวัฒน์ มีวาสนา ผู้รักษาการแทนรองผู้อำนวยการเทคโนธานี ฝ่ายปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารร่วมให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ณ อาคารรัฐสีมาคุณากร มทส.

 

รศ. ดร. วรวัฒน์ มีวาสนา เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) สู่การสร้างผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างเกษตรจังหวัดนครราชสีมา กับ เทคโนธานี มทส. ที่มุ่งหวังให้เกษตรกรของจังหวัดนครราชสีมา ได้เรียนรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ เพื่อยกระดับสินค้าสินค้าเกษตรให้มีมูลค่า โดยใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เกษตรกรลดรายจ่าย มีเพิ่มรายได้เพิ่มขึ้น เกิดความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายผู้เข้าร่วมอบรมมาจาก 32 อำเภอ ของจังหวัดนครราชสีมา อำเภอละ 10 ราย รวมทั้งสิ้น 320 ราย ประกอบด้วย ผู้แทนของกลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร เช่น กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร กลุ่มส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน เป็นต้น แบ่งกลุ่มพืชที่เข้าร่วมโครงการเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. ข้าว 16 อำเภอ 2. ไม้ผล เช่น กล้วยน้ำว้า ขนุน กล้วยหอมทอง ทุเรียน อะโวกาโดละมุด จำนวน 6 อำเภอ 3. พืชผัก เช่น ผักหวานป่า กระเทียม หอมแบ่ง ผักสวนครัว ผักตระกูลสลัด จำนวน 6 อำเภอ 4. พืชไร่-ไม้ยืนต้น เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา จำนวน 4 อำเภอ

 

กิจกรรมประกอบด้วย 1.การบรรยาย หัวข้อ “BCG Model เพื่อการพัฒนาเกษตรกรโคราชสู่การสร้างผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง อย่างยั่งยืน”โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณลดา ติตตะบุตร หัวหน้าสถานวิจัยสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร  2. การระดมสมอง ระบุปัญหาและความท้าทายของเกษตรกรแต่ละกลุ่มสินค้า โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความเป็นผู้ประกอบการ (SEDA)  3. เยี่ยมชมการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ Smart Farm ฟาร์มกัญชา โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โรงงานต้นแบบอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biorefinery) และโรงงานต้นแบบฯ การออกแบบบรรจุภัณฑ์

 

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ โครงการด้านการเกษตร ประจำปี 2567 ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับการผลิตให้เข้าสู่คุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย การใช้ประโยชน์จากความโดดเด่น และเอกลักษณ์ของสินค้าเกษตร รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละพื้นที่ การพัฒนาและการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่  ในการผลิตและการจัดการฟาร์ม ยังมีการสนับสนุนและส่งเสริม การพัฒนาระบบนิเวศของภาคเกษตร ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การผลิตและขยายผล และสร้างมูลค่าเพิ่ม ตามลำดับต่อไป

ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.

24 มิถุนายน 2567


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง