34 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พัฒนาสู่อนาคตที่ยั่งยืน Innovate the Future

ศูนย์บรรณสาร

34 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

พัฒนาสู่อนาคตที่ยั่งยืน Innovate the Future

 

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ครบ 34 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ภายใต้การบริหารและการดำเนินนโยบาย SUT 2025 เข้าสู่ปีที่ 4 ของ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อเปลี่ยนผ่านจากมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย (Research University) ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) ขับเคลื่อนไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน (Innovation & Sustainable University) โดยมีหมุดหมายสำคัญในการเป็นมหาวิทยาลัยที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นที่พึ่งของสังคม และเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม หรือ Social Enterprise อย่างแท้จริง

 

ผลสัมฤทธิ์การดําเนินงานตามนโยบาย SUT 2025 และผลงานโดดเด่นในรอบปีที่ผ่านมา

มทส. ได้ดำเนินนโยบาย SUT 2025 มาเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยในรอบปีที่ผ่านมา มีผลสัมฤทธิ์สำคัญ ๆ โดยสังเขป ดังนี้

ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนําของโลก โดย สถาบันจัดอันดับ Times Higher Education หรือ THE ซึ่ง มทส. อยู่ในอันดับที่ดีขึ้นและติดอันดับกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยมาโดยตลอด ได้แก่ THE World University Rankings 2024 มทส. อยู่ในอันดับ 1201-1500 ของโลก และอันดับ 6 ร่วมของมหาวิทยาลัยไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชีย หรือ THE Asia University Rankings 2024 อยู่ในอันดับ 5 ร่วมของไทย ขยับขึ้นจากอันดับ 6 ร่วม จากปีที่ผ่านมา และที่สำคัญคือ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี หรือ THE Young University Rankings 2024 มทส. ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย จากที่อยู่อันดับ 2 ในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนําของโลกในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ THE University Impact Rankings 2024 มทส. อยู่ในอันดับ 401-600 ของโลก ซึ่งมีสถาบันจากทั่วโลกเข้าร่วมการจัดอันดับกว่า 2,200 สถาบัน โดยอยู่ในอันดับ 11 ร่วมของไทย และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ในกลุ่มมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี

นักเรียนรู้จักและสนใจมาเรียนที่ มทส. มากขึ้น โดยในปีการศึกษา 2567 สามารถรับนักศึกษาใหม่ได้มากถึง 4,781 คน คิดเป็น 124% เทียบกับเป้าหมายประมาณ 3,850 คน ซึ่งเป็นผลมาจากการประชาสัมพันธ์หลักสูตรเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรม มทส. พบอาจารย์แนะแนว กิจกรรมตลาดนัดหลักสูตรอุดมศึกษา เป็นต้น

 

ด้านการเรียนการสอน มทส. ให้ความสำคัญในการพัฒนาคณาจารย์ โดยส่งเสริมให้บุคลากรสายวิชาการได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพด้านการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ ตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพของสหราชอาณาจักร หรือที่เรียกว่า UK Professional Standard Framework (UKPSF) ในระดับต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น นับถึงปัจจุบัน มีคณาจารย์ที่ได้รับการรับรอง UKPSF สะสมทั้งสิ้น 179 คน หรือคิดเป็น 33.2% ของจำนวนบุคลากรสายวิชาการทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งด้านวิชาการและประสิทธิภาพด้านการสอนของคณาจารย์

มทส. ขับเคลื่อนและพัฒนาสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (CWIE) มาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ CWIE Platform และประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) เป็นแนวทางในการดําเนินงาน ใช้ข้อมูลสารสนเทศจากผลการประเมินด้านต่าง ๆ และวิจัยสถาบันของศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ นำมาพัฒนางานตามหลัก PDCA โดยในปี 2567 มทส. ได้รับรางวัลผลงาน CWIE ดีเด่น ระดับชาติ 3 รางวัล ได้แก่ 1) สถานศึกษาดำเนินการนวัตกรรมหลักสูตร CWIE ดีเด่น 2) นักศึกษา CWIE ที่มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดีเด่น และ 3) สถานประกอบการขนาดกลางดำเนินการ CWIE ดีเด่น ในงานวันสหกิจศึกษาบูรณาการกับการทำงาน (CWIE Day) ครั้งที่ 14 จัดโดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) 

ด้านการวิจัย มทส. มีจำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ คือ มีอัตราส่วนจำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ต่อจำนวนอาจารย์สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีอัตราส่วนจำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารคุณภาพสูงระดับ Q1 หรือ T1 ต่อจำนวนอาจารย์สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และมีจำนวนการอ้างอิงต่อบทความสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

ล่าสุด มทส. ได้จัดตั้ง SUT Holding Company เปิดตัว SUTx  (เอสยูทีเอ็กซ์) บริษัทโฮลดิ้งมูลค่า 40 ล้านบาท สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมครบวงจร เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย สร้าง IP Management Platform รองรับ Startup/Spin-off ของคณาจารย์และนักศึกษา

มทส. มุ่งสร้างพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชน โดยนําองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย ปรับแปลงและถ่ายทอดสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น โครงการ Smart Trail คลองปลากั้ง 60 ปี มิตรภาพไทย-แคนาดา ในรูปแบบ University-Community Engagement ระหว่าง มทส. และชุมชนคลองปลากั้ง โดยการสนับสนุนจากสถานทูตแคนาดา ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ เป็นเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเชิงนิเวศแห่งแรกของ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เป็นต้นแบบนําไปสู่การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งอื่น ๆ อย่างยั่งยืนต่อไป อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ โครงการชุมชนนวัตกรรมผ้าไหมโคราช ที่นําเทคโนโลยีดิจิทัลและทักษะความเป็นผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัย ไปปรับแปลงและถ่ายทอดให้กับชุมชนผ้าไหมโคราช เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ ได้รับการคัดเลือกผ่านเข้ารอบสุดท้ายชิงรางวัล THE Awards Asia 2024 อีกด้วย

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ณ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ทาง ครม. ได้อนุมัติโครงการหลายโครงการที่ มทส. มีส่วนร่วม อาทิ โครงการตามแผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาเขาใหญ่ตามหลักการ Blue Zone งบประมาณ 6 ล้านบาท และ 2) โครงการ Korat Film Location งบประมาณ 6 ล้านบาท โครงการตามข้อเสนอของภาคเอกชน ได้แก่ 1) โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการเป็นเมือง Low Carbon City เพื่อดึงดูดการลงทุนด้าน Carbon Business มูลค่า 2 ล้านบาท 2) โครงการยกระดับโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (ภาคอีสานตอนล่าง) มูลค่า 50 ล้านบาท 3) โครงการศูนย์จัดการคาร์บอนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Center of Carbon Management Northeastern Region) มูลค่า 10 ล้านบาท และ 4) โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม : โรงงานต้นแบบและจัดการพื้นที่กิจกรรมเครื่องมือและวัสดุ มูลค่า 20 ล้านบาท

 

หมุดหมายหรือนโยบายสำคัญของการนําองค์กรในปีต่อไป

ด้านการเรียนการสอน มทส. มุ่งปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ ที่ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนทุกช่วงวัย (Lifelong Learning) ดูแลระบบนิเวศด้านการเรียนการสอนให้พอเพียงและเหมาะสมสำหรับนักศึกษา รวมถึงพัฒนาระบบ SUT CWIE Platform ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนําที่สามารถผลิตและพัฒนาทักษะของกําลังคนในอนาคต (Manpower for the Future) ที่ตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตัวชี้วัดที่สำคัญคืออัตราการได้งานทำ หรือ Employability ของบัณฑิตที่จบออกไป

ด้านการวิจัย นอกเหนือจากการส่งเสริมและสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่แล้ว มหาวิทยาลัยจะมุ่งเน้นการนําผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้ง SUT Holding Company จะเป็นกลไกสำคัญในการนําผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้ตามภารกิจที่สำคัญในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการเงินของมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้านการเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม มทส. ยังคงมุ่งเน้นสร้างพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชนให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยมีเทคโนธานี เป็นหน่วยงานสำคัญของการขับเคลื่อนภารกิจด้านการให้บริการวิชาการ รวมถึงการปรับแปลง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะการทำงานในลักษณะ University-Community Engagement

ความท้าทายในด้านการบริหารจัดการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (รพ.มทส.) นอกเหนือจากภารกิจด้านส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว จะต้องทำหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างดีและมีมาตรฐาน เป็นที่พึ่งด้านสุขภาวะให้กับชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน รวมถึง มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและการสร้างรายได้ที่เหมาะสม

อีกหนึ่งของความภาคภูมิใจ คือ ด้านการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ ความสำเร็จในปี 2567 มทส. ได้ผ่านการตรวจประเมินคุณภาพระดับ 300 คะแนน ตามโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ EdPEx300 และพร้อมมุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพและความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป ด้วย SUT Spirit ความร่วมแรงร่วมใจของประชาคม มทส. ทุกคน เพื่อให้ได้รับการรับรองระดับคุณภาพที่สูงขึ้น เช่น TQC หรือ TQC Plus เป็นต้น

 

“SUT PRIDE” ความภาคภูมิใจของชาว มทส. เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน

SUT PRIDE หรือ ความภาคภูมิใจใน มทส. ประกอบด้วย P: Professionalism ทำงานอย่างมืออาชีพ R: Relationship: ร่วมใจบริการ ประสานภารกิจ I: Integrity: ยึดมั่นคุณธรรมและจรรยาบรรณ D: Delight: มีความสุขกับงาน และ E: Entrepreneurship: ร่วมสร้างคุณค่าและความสำเร็จ ซึ่งเป็นค่านิยมขององค์กร นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนไปได้อย่างมีพลัง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปสู่เป้าหมายของการเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน” ได้นั้น จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจและการสนับสนุนจากทุก ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น สภามหาวิทยาลัย ทีมบริหาร เพื่อนร่วมงาน ประชาคม มทส. นักศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย มทส. ของเรามีจุดแข็งในหลาย ๆ ด้าน ผมมองเห็นศักยภาพและมองเห็นโอกาสอีกมากมาย ในการพัฒนา มทส. ให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนําที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้น ผมอยากเชิญชวนพวกเราทุกคนให้มาร่วมแรงร่วมใจ ใช้ SUT Spirit เพื่อช่วยกันพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งความภาคภูมิใจ เป็น SUT PRIDE ของพวกเราทุก ๆ คน ตลอดไป”

#มทส #SUT #มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี #34thSUT #SUTPRIDE #SUTSPIRIT #ความภูมิใจในมทส. #InnovatetheFuture

 

 

 

 

 



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง