การบริหาร
การบริหาร
การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีในช่วงทศวรรษแรก ได้แบ่งพัฒนาการสำคัญเป็น 3 ช่วง
ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2531 - 2532 เป็นช่วงแรกที่เป็นการดำเนินการด้านจัดหาที่ดินที่ตั้งของมหาวิทยาลัย การเตรียมโครงสร้าง การเตรียมจัดทำผังแม่บท
ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 - 2536 เป็นการดำเนินงานในช่วงเริ่มต้น จัดได้ว่าเป็นระยะบุกเบิกของมหาวิทยาลัย กล่าวคือเป็นระยะที่ก่อร่างสร้างตัวของมหาวิทยาลัย ให้พร้อมที่จะเปิดดำเนินการ โดยงานที่ได้ดำเนินการส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างอาคารสถานที่ ระบบสาธารณูปโภค การจัดระบบ วางระเบียบ การสรรหา และคัดเลือกบุคลากรเพื่อมาปฏิบัติงาน การดำเนินการส่วนใหญ่จะอยู่ที่สำนักงานชั่วคราว กรุงเทพมหานคร
ช่วงที่ 3 ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 เป็นต้นไป เป็นระยะของการเปิดดำเนินการ บุคลากรทั้งหมดเข้ามาปฏิบัติงาน ณ ที่ตั้ง จังหวัดนครราชสีมา มีการรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีรุ่นแรกในปีการศึกษา 2536 และในช่วงนี้ได้ดำเนินการตามภารกิจของ มหาวิทยาลัย โดยเน้นด้านการสอนและการวิจัย ซึ่งเป็นพื้นฐานของการขยายภารกิจทางด้านบริการวิชาการ ปรับแปลงถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี และทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมในระยะต่อไป จากหลักการ จัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่กำหนดให้ฐานะและรูปแบบของมหาวิทยาลัยเป็น มหาวิทยาลัยของรัฐบริหารงานแบบธุรกิจที่ไม่มุ่งหาผลกำไร และยังสามารถสนองนโยบายของรัฐได้เต็มที่ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย การวางโครงสร้างการ บริหารงาน ของมหาวิทยาลัยจึงคำนึงถึงประสิทธิภาพในการบริการ เพื่อรองรับการดำเนินภารกิจต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การกระจายอำนาจการบริหารไปสู่องค์กรระดับต่างๆ เพื่อลดขั้นตอนการตัดสินใจ โดยให้องค์กร แต่ละระดับเน้นการบริหารงานในรูปคณะบุคคล เพื่อรองรับการกระจายอำนาจ และเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังเน้นหลักการของการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย
การจัดองค์กร
ในฐานะมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้จัดโครงสร้างองค์กรและระบบบริหาร ที่ยึดหลักการกระจายอำนาจ ที่มีลักษณะของการปกครองตนเอง โดยให้การตัดสินใจ วินิจฉัย สั่งการ สิ้นสุดในระดับสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็น องค์กรบริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อให้มีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูง โครงสร้างการจัดองค์กรการบริหารในแนวราบ มีการจัดแบ่งส่วนงานที่ชัดเจน ไม่สลับซ้ำซ้อน และวางโครงสร้างการจัดองค์กรวิชาการแบบกลุ่มสหวิทยาการ ที่เอื้อให้มหาวิทยาลัยประยุกต์ใช้นวัตกรรมเชิงบริหารและนวัตกรรมทางการ ศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ในการดำเนินงานภายใต้การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่มีการตัดสินใจ วินิจฉัย และการสั่งการสิ้นสุดในระดับสภามหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยมีขีดความสามารถในการบริหาร และการจัดการในเรื่องการพัฒนาองค์กรอย่างคล่องตัว การดำเนินการยุบรวม และจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับสำนักวิชา ศูนย์ สถาบัน ฯลฯ สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้ความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยที่เป็นองค์กรการบริหารสูงสุด
โครงสร้างการจัดองค์กร
กลไกการกำหนดนโยบาย การวางแผนการควบคุม การติดตามและประเมินผล รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วยองค์กรสำคัญจำนวน 2 องค์กร ได้แก่
เป็นองค์กรสูงสุดทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไป โดยเฉพาะด้านนโยบายและแผน งบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน การแบ่งส่วนงาน การออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงและการอนุมัติปริญญา สภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วย
(1) นายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
(2) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
(3) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่น้อยกว่า 9 คนแต่ไม่เกิน 12 คน ซึ่งจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากบุคคลภายนอก และในจำนวนนี้จะต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 4 คน
(4) กรรมการจำนวน 2 คน ซึ่งสภาวิชาการเลือกจากกรรมการจากสภาวิชาการ
(5) กรรมการจำนวน 5 คนซึ่งเลือกจากคณาจารย์ประจำ
โดยนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรืออาจได้รับเลือกหรือได้รับเลือกตั้งใหม่อีกได้
คณะกรรมการประจำสภามหาวิทยาลัย
สภามหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยฯ จำนวน 5 ชุด ประกอบด้วย
(1) คณะกรรมการการเงินและทรัพย์สิน
(2) คณะกรรมการบริหารงานบุคคล
(3) คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล
(4) คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย
(5) คณะกรรมการอุทธรณ์ ร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัย
สภาวิชาการ
เป็นองค์กรรองลงมาจากสภามหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทางวิชาการ อันได้แก่ การสอน การวิจัย และบริการทางวิชาการโดยเฉพาะการกำกับดูแลด้านมาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการ ของมหาวิทยาลัย
สภาวิชาการ ประกอบด้วย
(1) ประธานสภาวิชาการ ได้แก่ อธิการบดี
(2) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ คณบดี ผู้อำนวยการศูนย์/สถาบัน และศาสตราจารย์
(3) กรรมการสภาวิชาการที่คณาจารย์ประจำเลือกจากคณาจารย์ประจำสำนักวิชา สำนักวิชาละ 3 คน
กรรมการสภาวิชาการ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี แต่อาจได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งใหม่อีกได้
โดยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีงานหลักที่สำคัญ 6 ด้าน คือ งานบริหารและธุรการ งานสอน งานวิจัยและพัฒนา งานบริการวิชาการ งานปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี และงานทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม การจัดองค์กรของมหาวิทยาลัย จึงอิงตามลักษณะงานทั้ง 6 ประการ ดังนี้
สำนักงานอธิการบดี
มีภารกิจหลักประสานนโยบายของมหาวิทยาลัยในทุกๆ ด้าน รวมทั้งภารกิจในด้านการบริหารและธุรการ โดยประสานงานบริหารในสำนักวิชา ศูนย์ สถาบัน และหน่วยงานวิสาหกิจ สำนักงานอธิการบดี ประกอบด้วย หน่วยงานระดับส่วนงาน 17 ส่วนงาน ได้แก่
(1) ส่วนส่งเสริมวิชาการ
(2) ส่วนสารบรรณและนิติการ
(3) ส่วนทรัพยากรบุคคล (เดิม : ส่วนการเจ้าหน้าที่)
(4) ส่วนการเงินและบัญชี
(5) ส่วนอาคารสถานที่
(6) ส่วนพัสดุ
(7) ส่วนแผนงาน
(8) ส่วนกิจการนักศึกษา
(9) ส่วนประชาสัมพันธ์
(10) สถานกีฬาและสุขภาพ
(11) หน่วยประสานงาน มทส.-กทม.
(12) สถานพัฒนาคณาจารย์
(13) สถานส่งเสริมและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการ
(14) ส่วนบริหารสินทรัพย์
(15) โครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอน
(16) โครงการจัดตั้งสถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา
(17) สถานศึกษาและค้นคว้าการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและภาษา
สำนักวิชา
มีภารกิจด้านการสอนและการวิจัย แต่ละสำนักวิชาจะประกอบด้วย สาขาวิชา และมีสถานวิจัย เป็นแหล่งปฏิบัติงานวิจัยของคณาจารย์ในสำนักวิชานั้น ๆ สำนักวิชา ประกอบด้วย 9 สำนักวิชา ได้แก่
(1) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์
(2) สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม
(3) สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร
(4) สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์
(5) สำนักวิชาแพทยศาสตร์
(6) สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์
(7) สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์
(8) สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์
(9) สำนักวิชาศาสตร์และศิลป์ดิจิทัล
ศูนย์/สถาบัน
มีภารกิจหลักด้านการบริการสนับสนุนงานด้านวิชาการ การจัดการเรียนการสอนแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชนและของประเทศ โดยอาจดำเนินการในรูปโครงการต่าง ๆ ได้ โดยแรกเริ่มดำเนินการมีหน่วยงานระดับ ศูนย์/สถาบัน จำนวน 8 ศูนย์ 1 สถาบัน ได้แก่
ศูนย์
(1) ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา
(2) ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(3) ศูนย์บริการการศึกษา
(4) ศูนย์คอมพิวเตอร์
(5) ศูนย์กิจการนานา่ชาติ
(6) ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยัการศึกษา
(7) ศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ
(8) ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
สถาบัน
(1) สถาบันวิจัยและพัฒนา
หน่วยวิสาหกิจ
ภายใต้แนวทางและเป้าหมายการพัฒนามหาวิทยาลัยที่มุ่งจะระดมสรรพกำลังและทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ มาเสริมงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องวางแนวทางและระบบต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยและส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวและเพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถพึ่งตนเองทางการเงินได้ในระยะยาว ได้ดำเนินการจัดตั้งและพัฒนาหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยให้เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานเชิงธุรกิจ 4 หน่วยงาน ได้แก่ เทคโนธานี ฟาร์มมหาวิทยาลัย สุรสัมมนาคาร ศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข
- เทคโนธานี *
เป็นหน่วยงานที่ให้บริการวิชาการแก่หน่วยงานทั้งภายในและหน่วยงานภายนอกในด้านการจัดประชุม สัมมนา ฝึกอบรม และให้คำปรึกษาทางวิชาการ ส่งเสริม ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ให้เช่าพื้นที่ภายในบริเวณเทคโนธานีเพื่อการบริการ และการวิจัยพัฒนาเพื่อต่อยอดธุรกิจ เป็นต้น
- ฟาร์มมหาวิทยาลัย **
เป็นสถานที่ให้บริการการเรียนการสอนภาคปฏิบัติการ การวิจัย และบริการวิชาการทางด้านเทคโนโลยีการเกษตร และดำเนินกิจการด้านการเกษตรในเชิงธุรกิจ มีการจำหน่ายสินค้า ผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ ที่เป็นผลผลิตจากการเรียนการสอนและการวิจัยด้านการเกษตร
- โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี **
เป็นสถานที่ให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่พนักงาน นักศึกษา รวมถึงบุคคลภายนอก
- สุรสัมมนาคาร ***
เป็นสถานที่ให้บริการที่พัก/อาหาร การจัดประชุมสัมมนาและจัดเลี้ยงแก่หน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอก