IT Show Case นักศึกษา มทส.เปิดตัว App..ใหม่บนโทรศัพท์มือถือ

สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดงาน IT Show Case ประจำปี 2556 เพื่อโชว์ผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ณ บริเวณโถงกิจกรรม อาคารเรียนรวม 1 มทส.พร้อมเปิดตัวผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นผลงาน Application น่าสนใจประกอบด้วย APP อังกะลุง และ Hi Santa เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงดนตรีพื้นเมืองไทยและร่วมส่งความสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่พุทธศักราช 2557 นี้

 


 

นครราชสีมา : วันนี้ (12 ธันวาคม 2556) รศ. ดร.วีรพงษ์ พลนิกรกิจ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้เปิดเผยถึงการจัดงาน IT Show Case ประจำปี 2556 ว่าสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มทส. ได้จัดงาน IT Show Case เป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโชว์ผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่จะสำเร็จการศึกษา โดยเป็นผลงานของนักศึกษาทุกหลักสูตรประกอบด้วยระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ซอฟต์แวร์วิสาหกิจ สารสนเทศศึกษา และนิเทศศาสตร์ ตลอดจนผลงานของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา โดยในปี 2556 นี้ มีผลงานของนักศึกษารวมจัดแสดงกว่า 30 ผลงาน โดยมีผลงานที่โดดเด่นของปีนี้ ได้แก่ Application 2 ผลงาน คือ Application อังกะลุง ของนายชัยยศ พรหมทา และ นางสาวพัชรกันย์ ธนภัทรภู่ประเสริฐ และApplication Hi Santa ของนายคมคิด ชัชราภรณ์

 

นายชัยยศ พรหมทา และ นางสาวพัชรกันย์ ธนภัทรภู่ประเสริฐ นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยทีมผู้พัฒนา Application อังกะลุง เปิดเผยถึง แรงบันดาลใจในการสร้าง application ดังกล่าวว่า มาจากจากความสนใจในดนตรีพื้นเมืองที่มีอยู่ก่อนแล้ว และมีความต้องการที่จะให้คนเยาวชน คนรุ่นใหม่ และบุคคลทั่วไป สามารถเข้าถึงดนตรีพื้นเมืองได้ง่ายที่สุด และได้รับความสนใจมากที่สุด จากความต้องการนี้ทำให้เห็นว่าการที่จะเข้าถึงกลุ่มคนยุคใหม่ที่ทำได้ง่ายและดีที่สุดคือผ่านโทรศัพท์มือถือ จึงได้คิดพัฒนา Application นี้ขึ้นโดยใช้ระยะเวลาในการพัฒนาประมาณ 2 เดือน




ในการพัฒนาก็เจอปัญหาและอุปสรรค อาทิ  ปัญหาของเสียงที่นำมาใช้ เนื่องจากอังกะลุงเป็นเครื่องดนตรีที่ไม่ค่อยได้รับความนิยม การที่จะได้มาของเสียงอังกะลุงและเครื่องดนตรีไทยอื่น ๆ จึงเป็นไปได้ยาก ประกอบกับการเขียนโปรแกรมเป็นการพัฒนามาจากภาษา JAVA ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านกราฟฟิกส์จึงทำให้มีความยากลำบากที่จะทำให้ Application มีความน่าสนใจ และโปรแกรมดังกล่าวรองรับเฉพาะมือถือขนาดหน้าจอตั้งแต่ 3 – 6 นิ้ว หรืออาจมากกว่าเล็กน้อย เนื่องจากภาษา JAVA ไม่เหมาะกับการทำกราฟฟิกส์ที่ยืดหดตามขนาดหน้าจอได้ เมื่อนำมาใช้บนอุปกรณ์ที่มีขนาดหน้าจอใหญ่ๆ อาจทำให้กราฟฟิกส์เคลื่อนออกจากตำแหน่งที่เหมาะสม ทั้งนี้ Application ดังกล่าวยังมีเสียงดนตรีอื่นประกอบด้วยเสียงกลองแขกและเสียงฉิ่ง เพื่อให้การเล่นดนตรีมีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุดทั้งนี้การเล่น Application ดังกล่าวสามารถเล่นคนเดียวก็ได้และสามารถเล่นเป็นวงได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้คาดหวังว่าการสร้าง Application อังกะลุง ในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูเครื่องดนตรีไทยที่กำลังค่อยๆหายไปจากสังคมให้ฟื้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

 

    

     ด้านนายคมคิด ชัชราภรณ์ นักศึกษาบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการพัฒนา Application Hi Santa ว่า มาจากเทศกาลวันคริสมาสต์และวันปีใหม่ เนื่องจาก ซานตาครอสเป็นบุคคลในจินตนาการที่ทุกคนรู้จักและนึกถึงมากที่สุดทั่วโลก ทั้งนี้ตนเองมีความคิดว่าในความเป็นจริงแล้วซานตาครอสของแต่ละคนจะเป็นใครก็ได้ อาทิ พ่อ แม่ เพื่อน หรือคนรัก จึงสร้าง Application ขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสส่งข้อความถึงซานตาครอสของเขาเองเนื่องในโอกาสพิเศษ ผ่านการเชื่อมต่อทางโทรศัพท์มือถือ โดย Application ดังกล่าวได้พัฒนามาจากโปรแกรม Eclipse โดยใช้ระยะเวลาในการสร้างประมาณ 20 วัน เชื่อว่าจะเป็น Application ที่สร้างความสุขให้แก่ผู้ใช้ในช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ที่ใกล้จะถึงนี้ได้อีกช่องทางหนึ่ง

        

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง