สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดอาคาร สิรินธรวิศวพัฒน์

วันนี้ (๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙)  เวลา ๑๓.๓๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ถึงบริเวณอาคารปฏิบัติการพื้นฐานด้านวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเฝ้าฯ รับเสด็จฯ อาจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร อธิการบดีกราบบังคมทูลถวายรายงาน และเบิกบุคคลผู้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เข้ารับพระราชทานโล่ที่ระลึก จำนวน ๗ ราย ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคาร “สิรินธรวิศวพัฒน์” อันหมายถึง “ผู้มีความรุ่งโรจน์ในการสรรค์สร้างความเจริญทั้งปวง”

 

 

อาคารสิรินธรวิศวพัฒน์ (SIRINDHORN WITSAWAPHAT BUILDING) ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๕ ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น ๒๕,๐๐๐ ตารางเมตร ได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อการก่อสร้าง จำนวนเงิน ๔๒๐ ล้านบาท ใช้รองรับกิจกรรมเชิงปฏิบัติการด้านวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยตามสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ เช่น วิศวกรรมเครื่องกล ยานยนต์ อากาศยาน ขนส่งและโลจิสติกส์ เกษตรและอาหาร ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม เมคคาทรอนิกส์ แอกริทรอนิกส์และวิศวกรรมวัสดุ เป็นต้น อาคารหลังนี้เป็นอาคารทันสมัย สามารถรองรับการจัดการเรียนการสอนวิชาปฏิบัติการ การทำโครงงานของนักศึกษาระดับปริญญาตรีได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ คนต่อปี และสามารถรองรับการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาปริญญาโท-เอก ได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ๓๐๐ คนต่อปี นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการที่ประกอบอยู่ในอาคารหลังนี้ยังสามารถให้บริการวิชาการแก่สังคมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นแหล่งให้บริการ การวิเคราะห์ ทดสอบ และสอบเทียบเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพื่อตอบสนองความต้องการของภาครัฐ วิสาหกิจ และภาคอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค เช่น เขตอุตสาหกรรมสุรนารี เขตอุตสาหกรรมนวนคร ๒ และ เขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี เป็นต้น อีกทั้งยังรองรับการจัดการเรียนการสอนปฏิบัติการทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในสาขาวิชาที่ขาดแคลน สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ อีกด้วย

 

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินเข้าภายในอาคารสิรินธรวิศวพัฒน์ ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานวิจัยจากกองทุนนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เช่น การพัฒนาวัสดุเซรามิกขั้นสูงสำหรับใช้เป็นหมอนรองข้อเข่าเทียม เครื่องฟังตรวจไร้สายสัญญาณรบกวนต่ำ เครื่องรีดยางพาราไฟฟ้าอัจฉริยะที่ควบคุมความหนาแน่นของแผ่นยางแบบอัตโนมัติ เครื่องช่วยพยุงเดินต้านแรงโน้มถ่วงแบบอัตโนมัติ รถนั่งคนพิการสั่งงานด้วยเสียง การพัฒนาเครื่องฝึกบินจำลองชนิดสามองศาอิสระ วิศวกรรมคลื่นสมอง และการมีส่วนร่วมในการทดลอง JUNO เป็นต้น นิทรรศการเกี่ยวกับศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนธานี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์

 


ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยได้น้อมเกล้าฯ ถวายผลงานวิจัยและนวัตกรรม ๒ ผลงาน ประกอบด้วย ๑. เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงด้วยคลื่นอัลตร้าโซนิค (Ultrasonic Transducer to Eliminate Mosquito Larvae) ซึ่งถูกพัฒนาโดยใช้ความถี่ย่านอัลตร้าโซนิคขนาด ๒๐ กิโลเฮิร์ตซ์ ที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อลูกน้ำยุง เมื่อแพร่กระจายลงสู่บริเวณที่มีน้ำจะไปทำลายวัฏจักรการเจริญเติบโต ทำให้ลูกน้ำยุงไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นยุงตัวเต็มวัยได้ ช่วยลดจำนวนยุงตามแหล่งน้ำขังต่าง ๆ ทดแทนการใช้สารเคมี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีขนาดกะทัดรัด ต้นทุนในการผลิตต่ำ และสามารถมีไว้ใช้ตามบ้านเรือน เพื่อลดจำนวนยุงที่ก่อความรำคาญ และพาหะของโรคร้ายมาสู่คนและสัตว์ ๒. พื้นอัจฉริยะ (Smart Floor) รุ่น S1 พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้บนทางเดินเท้า ซึ่งถูกออกแบบเพื่อให้เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานและเป็นเซ็นเซอร์สำหรับใช้ในเมืองอัจฉริยะในอนาคต ทั้งยังสารถนำไปใช้ในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนไฟฟ้า โดยพื้นอัจฉริยะมีความสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยตัวเอง โดยใช้หลักการเปลี่ยนพลังงานเชิงกลจากการเหยียบบนพื้นทางเดินให้เป็นพลังงานไฟฟ้า และส่งผ่านวงจรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อจัดเก็บในแบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุ ทั้งนี้พลังงานดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือหรือหลอด LED เพื่อใช้เป็นไฟฉุกเฉิน ทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นเซ็นเซอร์ได้

 

 

ข่าวโดย: ส่วนประชาสัมพันธ์
ภาพโดย: ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา ส่วนประชาสัมพันธ์

 

ชมภาพเพิ่มเติม

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง