สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสวนพฤกษศาสตร์ มทส. (SUT Botanical Garden)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสวนพฤกษศาสตร์ มทส. (SUT Botanical Garden) ทอดพระเนตรนิทรรศการภายในห้องไทยศึกษานิทัศน์และวัฒนธรรมอาเซียน อาคารสรุพัฒน์ ๕ และนิทรรศการพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณ อาคารสุรพัฒน์ ๔ เทคโนธานี มทส.

 

เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ถึงสวนพฤกษศาสตร์ มทส. (SUT Botanical Garden) ภายในบริเวณ เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เฝ้าฯ รับเสด็จฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้อำนวยการเทคโนธานี เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าถวายสูจิบัตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีกราบบังคมทูลถวายรายงานโครงการตลอดจนความเป็นมาเกี่ยวกับสวนพฤกษศาสตร์ มทส. จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังแท่น ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายเปิด “สวนพฤกษศาสตร์ มทส.” ทรงปลูกต้นแจง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำถิ่นโคราช จำนวน ๑ ต้น จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินเข้าภายในอาคารนิทรรศการ โดยมี อาจารย์ ดร.รุจ มรกต ผู้จัดการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้สิรินธร ทูลเกล้าฯ ถวายกล้วยไม้กุหลาบเหลืองโคราช เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการป่าเต็งรัง นิทรรศการภายในสวนพฤกษศาสตร์ มทส. และแผนผังสวนพฤกษศาสตร์ มทส.

 

 

สวนพฤกษศาสตร์ มทส. เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ด้วยการสำรวจพื้นที่และศึกษาความหลากหลายของพรรณไม้พื้นที่ในบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังคงสภาพป่าที่ฟื้นสภาพจากการเคยเป็นป่าเสื่อมโทรมที่ถูกบุกรุกทำลายมาก่อนที่มหาวิทยาลัยได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ มหาวิทยาลัยได้สำรวจข้อมูลทรัพยากรเดิมที่มีอยู่แล้วทำให้สมบูรณ์ขึ้น และพบพรรณพืช ๘๑ วงศ์ ๑๙๕ สกุล ๔๒๑ ชนิด ขึ้นในป่าชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ และป่าทุ่งหญ้า และเพิ่มโครงการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ มทส. เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชในการอนุรักษ์และพัฒนา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและเผยแพร่ จัดทำฐานข้อมูลของพรรณพืช และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ประจำท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การแบ่งเขตในการอนุรักษ์ ส่งเสริมการใช้สวนพฤกษศาสตร์เป็นสื่อการเรียนการสอน บริการวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ ให้ความรู้แก่เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป อันจะนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจกันส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีความร่วมรื่นและสวยงามให้แก่มหาวิทยาลัย

 

 

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้จัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ มทส. บนพื้นที่ ๘๐ ไร่ ประกอบด้วย อาคารนิทรรศการ อาคารพรรณไม้ อาคารฝึกอบรม พื้นที่จัดแสดงพรรณพืช ได้แก่ สวนสมุนไพร พืชพื้นบ้าน และพรรณไม้วงศ์ต่าง ๆ รวมถึงเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ รวมถึงกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และศึกษาวิจัย เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในอนาคต และเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยเฉพาะพืชภูมิปัญญาในท้องถิ่น

 

 

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินประทับรถไฟฟ้าไปยังอาคารสุรพัฒน์ ๕ ทอดพระเนตรนิทรรศการภายในห้องไทยศึกษานิทัศน์และวัฒนธรรมอาเซียน แหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศไทยและกลุ่มอาเซียน ซึ่งเริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ เป็นห้องปฏิบัติการทางมานุษยวิทยา เป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยภายในจัดแสดงนิทรรศการทางด้านความภูมิใจของท้องถิ่นและการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เช่น นิทรรศการเกี่ยวกับพระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทโสฬส ณ ราชสีมา) ข้าหลวงประจำจังหวัดนครราชสีมา พ่อเมืองคนสุดท้าย นิทรรศการที่นี่ “อีสาน” ทำมา-หากิน ปลูกบ้าน-สร้างเรือน บันเทิง-เริงเล่น และงานบุญ-ไหว้ผี นิทรรศการให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างสรรค์สื่อเพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมที่มีอยู่ภายในห้องนิทรรศการ เช่น การออกแบบและพัฒนาโปรแกรมประยุกต์เพื่อแสดงระหัดวิดน้ำลำตะคอง การออกแบบและพัฒนาหมู่บ้านด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ ๓ มิติ โดยจำลองวิถีชีวิตชาวนาและการนำเทคโนโลยีความจริงเสริม (Augmented reality) เพื่อแสดงเฮือนอีสาน ยุ้งข้าว รวมถึงความเชื่อในวัฒนธรรมข้าวในรูปแบบดิจิทัล เป็นต้น

 

ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารสุรพัฒน์ ๔ ทอดพระเนตรนิทรรศการพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณ ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เพื่อเป็นแหล่งเก็บรวบรวมอุปกรณ์เครื่องมือหลักฐานแห่งความทรงจำไว้ให้คนไทยได้ภาคภูมิใจในความสามารถของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทยโบราณ สร้างความตระหนักในคุณค่าประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของบรรณพชนไทย ให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้ศึกษาหาความรู้ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดค้นและต่อยอดความรู้ในอดีต ภายในอาคารยังจัดแสดงความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีต้นแบบทางด้านงานเกษตรกรรม งานอาชีพหญิง-ชาย งานในอดีต ยานพาหนะและกลไกในอดีต หลังทอดพระเนตรนิทรรศการ ทรงลงพระนามาภิไธยในแผ่นจารึก จากนั้นเวลา ๑๔.๑๕ น. เสด็จพระราชดำเนินประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา ๑๑ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

 

 

 

 

ข่าวโดย: ส่วนประชาสัมพันธ์
ภาพโดย: เทคโนธานี ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา ส่วนประชาสัมพันธ์

ชมภาพเพิ่มเติม

 

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง