มทส. ติดอันดับ 8 ของมหาวิทยาลัยไทย ที่ตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์คุณภาพสูง ตามการจัดอันดับของ Nature Index 2020

มทส. ติดอันดับ 8 ของมหาวิทยาลัยไทย
ที่ตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์คุณภาพสูง
ตามการจัดอันดับของ
Nature Index 2020

 

        Nature Index 2020 เผยผลการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์คุณภาพสูงในเครือ Nature Research โดยในปีนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ติดอันดับที่ 8 ของมหาวิทยาลัยไทย ในขณะที่ประเทศไทยติดอันดับที่ 9 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

        รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. เผยว่า "จากการประกาศผลการจัดอันดับของ Nature Index 2020 ที่พิจารณาจากผลการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์คุณภาพสูงในเครือ Nature Research จำนวน 82 ชื่อ โดยเป็นบทความที่ตีพิมพ์ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2019 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2020 มทส. มีจำนวนบทความวิจัย (Count) ทั้งสิ้น 33 บทความ และมีจำนวนสัดส่วน/ส่วนแบ่งความเป็นเจ้าของบทความที่จัดสรรให้กับสถาบันหรือประเทศ (Fractional Count) เท่ากับ 1.78 โดย มทส. มีบทความตีพิมพ์มากเป็นอันดับ 1 ในสาขาด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) จำนวน 30 บทความ และมีจำนวนสัดส่วน/ส่วนแบ่งความเป็นเจ้าของบทความเท่ากับ 1.48 ส่วนที่เหลือเป็นจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ในสาขา Earth & Environmental Sciences, Chemistry, Life Sciences จำนวน 1, 2 และ 1 บทความตามลำดับ และมีจำนวนสัดส่วน/ส่วนแบ่งความเป็นเจ้าของบทความเท่ากับ 0, 0.06 และ 0.25 ตามลำดับ” ดังแสดงในรูปที่ 1

รูปที่ 1 จำนวนบทความตีพิมพ์และจำนวนสัดส่วน/ส่วนแบ่งความเป็นเจ้าของบทความของ มทส.

 

สำหรับความร่วมมือของผู้แต่ง เป็นความร่วมมือในระดับนานาชาติถึงร้อยละ 91.12 รวมถึงความสัมพันธ์ของหน่วยของผู้แต่ง แสดงได้ดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 ความร่วมมือของผู้แต่ง และความสัมพันธ์ของหน่วยของผู้แต่ง

 

Nature Index มีมาตั้งแต่ปี 2015 โดยใช้ตัวชี้วัดหลัก 2 ตัวในการพิจารณาจัดอันดับ คือ

1. จำนวนบทความตีพิมพ์ (Count) ยกตัวอย่างเช่น บทความ 1 บทความ ที่มีผู้เขียน 1 คน หรือ หลายคนจาก มทส. ดังนั้น  มทส. จะได้รับค่า Count เท่ากับ 1

2. จำนวนสัดส่วน/ส่วนแบ่งความเป็นเจ้าของบทความที่จัดสรรให้กับสถาบันหรือประเทศ (Fractional Count) โดย 1 บทความ จะมีค่า Fractional Count เท่ากับ 1 ซึ่งถูกแบ่งให้ผู้เขียนทุกคนในบทความหนึ่งๆ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าทุกคนมีส่วนร่วมเท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างเช่น บทความ 1 บทความ ที่มีผู้เขียน 10 คน หมายความว่าผู้เขียนแต่ละคนได้รับค่า Fractional Count เท่ากับ 0.1

 

“ผลการจัดอันดับในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่น่ายินดีและน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นว่า มทส. มีศักยภาพความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ การสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรม โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) ในระดับสากล อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายคงต้องร่วมกันทำงานอย่างหนักต่อไป เพื่อผลิตบัณฑิตพร้อมทำงาน ที่มีความรู้ในวิชาชีพตรงตามความต้องการตลาดแรงงาน เพื่อเป็นที่พึ่งของสังคมต่อไป” อธิการบดี มทส. กล่าวในที่สุด

ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.natureindex.com/

ส่วนแผนงาน/ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.
15 ธันวาคม 2563

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง