นักวิจัย มทส. ร่วมเพิ่มมูลค่าต้นกระจูด สร้างวิสาหกิจชุมชนแนวใหม่ ด้วยนวัตกรรมเคลือบหลอดกระจูด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นักวิจัย มทส. ร่วมเพิ่มมูลค่าต้นกระจูด สร้างวิสาหกิจชุมชนแนวใหม่
ด้วย“นวัตกรรมเคลือบหลอดกระจูด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

 

    นักวิจัย มทส. นำเสนอแนวคิดในการเพิ่มมูลค่า กระจูดจากพืชน้ำ สู่นวัตกรรมการเคลือบหลอด  โดยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ผู้ประกอบการด้านเครื่องดื่มทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการเพิ่มขึ้นคุณสมบัติของหลอดกระจูดที่เหนียว คงทน สะอาด ปลอดภัย และปราศจากสิ่งปนเปื้อน หวังช่วยลดปัญหาขยะจากหลอดพลาสติก  ช่วยสร้างรายได้ และส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนแนวใหม่อีกทางหนึ่ง
 



 

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย มีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการออกแบบ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า “งานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม “การเคลือบหลอดกระจูดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ในเบื้องต้นได้รับทุนวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ บริษัท สมาร์ทเทค จำกัด ผู้ประกอบการด้านผลิตหลอดเครื่องดื่ม  ที่ได้ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากขยะพลาสติกที่สร้างมลภาวะ และย่อยสลายยาก  จึงมีแนวคิดที่จะใช้วัสดุจากธรรมชาติขึ้นมาทดแทน พร้อมนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ ใช้ลดข้อจำกัดและเพิ่มศักภาพให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น จึงให้ความสนใจ “ต้นกระจูด” ซึ่งเป็นพืชน้ำตระกูลเดียวกับต้นกก ธูปฤาษี ปัจจุบันมีแหล่งปลูกใหญ่ ๆ  คือ พื้นที่จังหวัดระยอง และภาคใต้แหล่งใหญ่พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยมองเห็นโอกาสของกลุ่มชุมชน นอกเหนือจากการนำกระจูดไปแปรรูปสร้างรายได้จากการทำเป็นเครื่องจักรสาน หรืออุปกรณ์ตกแต่งบ้าน พบว่า ลำต้นของกระจูด ที่ปลูกในระยะเวลาที่เหมาะสม รูปทรงได้สมมาตร ใกล้เคียงกับหลอดดูดน้ำพลาสติกในท้องตลาด แต่ยังมีพบข้อจำกัดบางประการ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยนี้



 
 

งานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนี้ ได้มุ่งเสริมคุณสมบัติของหลอดกระจูดและลดข้อจำกัดบางประการ เช่น เปราะบางหักง่าย ความสะอาด ปลอดภัย ปราศจากสิ่งปนเปื้อน เช่น ไข่พยาธิ เนื่องจากเป็นพืชน้ำ และที่สำคัญต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  พร้อมได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการระดับสากล เช่น สตาร์บัค หรือ อเมซอน เป็นต้น  “นวัตกรรมเทคโนโลยีการเคลือบหลอดกระจูด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” สามารถลดข้อจำกัดปัญหาต่าง ๆ ข้างต้น หลักการ คือ การนำหลอดกระจูดที่ตัดแต่งตามขนาดที่ต้องการ เข้าสู่กระบวนการเคลือบด้วยวัสดุพลาสติกที่ย่อยสลายได้ (Bio Plastic)  การเติมสารที่ป้องกันการเกิดเชื้อราและแบคทีเรีย จากนั้น นำหลอดไปผ่านการทรีตเม้นต์ด้วยความร้อน   เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยึดติดระหว่างพื้นผิวของกระจูดกับพลาสติกที่เคลือบ พร้อมกับทำให้สารละลายละเหยออกไป จากการทดสอบคุณสมบัติด้วยเครื่องมือทดสอบมาตรฐานสากล  ทั้งทดสอบแรงกดอัด และแรงบิด พบว่า ได้หลอดกระจูดที่มีคุณสมบัติสูงขึ้น ทั้งด้านความแข็งแรง ความเหนียว ทนน้ำได้ดี ป้องกันการเกิดขึ้นของแบคทีเรีย และป้องกันไข่พยาธิต่าง ๆ ที่อาจจะปนเปื้อน  และประการสำคัญคือ ลดมลภาวะด้านขยะพลาสสติกในสิ่งแวดล้อม  


     
 

นอกจากประโยชน์ในเชิงสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ในด้านวิสาหกิจชุมชนแบบใหม่  หากส่งเสริมให้ชุมชนเพิ่มพื้นที่ปลูกกระจูดตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เสริมจากพืชหลักประจำท้องถิ่น  ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกระจูดพืชน้ำที่คนทั่วไปอาจจะมองข้าม สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการพร้อมที่จะรับซื้อเข้าสู่กระบวนการผลิตหลอดกระจูดตามมาตรฐาน เพื่อการส่งออกไปในต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง