มทส. จัดพิธีสถาปนาอธิการบดีคนใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา

มทส. จัดพิธีสถาปนาอธิการบดีคนใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา
 
 
      มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดพิธีสถาปนาอธิการบดี เนื่องในโอกาสที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2564 เพื่อเป็นการแสดงความยินดีตามธรรมเนียมปฏิบัติ และเป็นการประกาศต่อประชาคมชาวมหาวิทยาลัย ภาคีพันธมิตร หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ได้รับทราบถึงการแต่งตั้งอธิการบดี มทส. คนใหม่ สืบแทนคนเก่าซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง โดยพิธีการจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 น. ณ ห้องวิทยพัฒน์ อาคารเรียนรวม 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานในห้องพิธี และเปิดให้ร่วมงานในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting เพื่อปฏิบัติตามมาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด 
 


 

 
 
     ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัย อ่านประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และสวมสังวาลประจำตำแหน่งอธิการบดี ให้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ และกล่าวปราศรัยการเข้ารับตำแหน่งอธิการบดี พร้อมแสดงวิสัยทัศน์แนวนโยบาย SUT 2025 ต่อประชาคม มทส. ช่วงหนึ่งว่า “ภายในปี พ.ศ. 2568 ผมมุ่งมั่นที่จะนำพามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก้าวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่พัฒนาและนำเอานวัตกรรมบนพื้นฐานองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน”
 
 
 

 
 
 
 
สำหรับนโยบาย SUT 2025 เพื่อขับเคลื่อน มทส. ไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน (Innovation and Sustainable University)” ได้กำหนดมิติยุทธศาสตร์ไว้ 3 มิติ คือ
1) มิติด้านการพัฒนากำลังคนในอนาคต (Manpower for the Future)
2) มิติด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Impactful Research and Innovation) และ
3) มิติด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

ซึ่งจะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนากำลังคนและผู้ประกอบการในอนาคต
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การวิจัยและพัฒนาเพื่อความยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการที่มีผลกระทบสูง
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาความเป็นสากลและการสร้างความผูกพันกับชุมชน
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาความเป็นเลิศด้านการปฏิบัติงาน
 
 


โดยมีข้อริเริ่ม 7 ข้อ ประกอบด้วย SUT IIT (Institute of Innovation & Technology) จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยี  SUT LIFE (Lifelong Learning, Innovative & Future Education) พัฒนาหลักสูตรแห่งอนาคตและระบบการศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย SUT HIVE (Health Innovation Valley) ยกระดับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีให้เป็นหุบเขาแห่งนวัตกรรมทางการแพทย์  SUT HERO (High Impact & Excellent Research Outputs) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่สร้างผลกระทบสูงในเชิงเศรษฐกิจและสังคม  SUT RISE (Research Innovation for Sustainable Society & Economy) ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม SUT Connect สร้างการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และ SUT NExT (New S-Curve, Effectiveness Excellence & Transparency) ปรับโครงสร้างการบริหารงาน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน ปลุกจิตวิญญาณของความเป็น มทส. (SUT Spirit) สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง ตามนิยามของคำว่า “SUT PRIDE” ซึ่งผลอันเป็นรูปธรรมที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นคือ มทส. ได้รับการจัดอันดับในระดับนานาชาติสูงขึ้น อยู่ในอันดับ 3 ของไทย และเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีของประเทศ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศในทุกภารกิจ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่สามารถนำเอาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์เพื่อสร้างผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นมหาวิทยาลัยที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และเป็นที่พึ่งของสังคม”
 
 
 
 
 
อนึ่ง นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้รับการสถาปนาก่อตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2533  มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 5 คน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน (พ.ศ. 2533 - 2544) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวี เลิศปัญญาวิทย์ (พ.ศ. 2544 - 2548) ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า (พ.ศ. 2548 - 2560) รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ (พ.ศ. 2560 - 2564) และ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา (12 กันยายน 2564 - ปัจจุบัน)
 
 
 

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง