32 ปี แห่งความภาคภูมิใจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน
32 ปี แห่งความภาคภูมิใจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
สู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้ดำเนินการตามภารกิจมาครบ 32 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ท่ามกลางความท้าทายของสถาบันอุดมศึกษาไทยจากกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruptive Technology การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนา ภายใต้วิสัยทัศน์และนโยบาย SUT 2025 โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ ก้าวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่พัฒนาและนำเอานวัตกรรมบนพื้นฐานองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน (Innovation and Sustainable University)” ภายในปี พ.ศ. 2568
รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อน มทส. ไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน”
นโยบาย SUT 2025 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้าน คือ 1) การพัฒนากำลังคนและผู้ประกอบการแห่งอนาคต เน้นพัฒนาหลักสูตรแนวใหม่ที่ตอบสนองการศึกษาไร้พรมแดนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต รองรับผู้เรียนในทุกช่วงวัย 2) การวิจัยและพัฒนาเพื่อความยั่งยืน เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและแก้ไขปัญหาความท้าทายของสังคมโลก 3) การสร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการที่มีผลกระทบสูง พัฒนาทักษะแนวคิดด้านความเป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรมให้นักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัยและบุคลากรของมหาวิทยาลัย 4) การพัฒนาความเป็นสากลและการสร้างความเชื่อมโยงกับสังคมและชุมชน 5) การพัฒนาความเป็นเลิศด้านการปฏิบัติงาน โดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดข้อริเริ่ม 7 ประการ เพื่อเป็นหมุดหมายสร้างจุดมุ่งเน้นในเชิงยุทธศาสตร์และบูรณาการระหว่างยุทธศาสตร์ ได้แก่ SUT IIT (Institute of Innovation & Technology) การจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี SUT LIFE (Lifelong Learning, Innovative & Future Education) การพัฒนาหลักสูตรแห่งอนาคตและระบบการศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย SUT HIVE (Health Innovation Valley) การยกระดับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีให้เป็นหุบเขาแห่งนวัตกรรมทางการแพทย์ SUT HERO (High Impact & Excellent Research Outputs) การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่สร้างผลกระทบสูงในเชิงเศรษฐกิจและสังคม SUT RISE (Research Innovation for Sustainable Society & Economy) การใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม SUT Connect การสร้างความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม SUT NExT (New S-Curve, Effectiveness Excellence & Transparency) การปรับโครงสร้างการบริหารงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน
ทั้งนี้ จาก 5 ยุทธศาสตร์ และ 7 ข้อริเริ่ม จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติ คือ การพัฒนากำลังคนในอนาคต (Manpower for the Future) การวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Impactful Research and Innovation) และ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) รวมถึงผลอันเป็นรูปธรรมที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นก็คือ มทส. ได้รับการจัดอันดับในระดับนานาชาติสูงขึ้น อยู่ในอันดับ 3 ของประเทศไทย และเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีของประเทศไทย เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศในทุกภารกิจ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่สามารถนำเอาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์เพื่อสร้างผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อพิจารณาตามกรอบการประเมิน SUT Scorecard ซึ่งมี 16 ตัวชี้วัด พบว่ามี 8 ตัวชี้วัด ได้ตามเป้าหมายตั้งแต่ครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และผลการดำเนินงานในภาพรวมอยู่ในระดับตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของอธิการบดีในประเด็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษา/ศิษย์เก่าด้านความเป็นผู้ประกอบการ และความสามารถในการหารายได้ตามภารกิจเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านงบประมาณ มีผลการดำเนินงานในภาพรวมอยู่ระดับดีมาก
นโยบายเร่งด่วนที่ได้ดำเนินการในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา
ความท้าทายของ มทส. ในเรื่องสำคัญ ได้แก่ ผลการจัดอับดับของมหาวิทยาลัยในกลุ่มอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยและของโลก โดยสถาบันจัดอันดับที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ อาทิ Times Higher Education (THE) World University Rankings & Impact Rankings, The Quacquarelli Symonds (QS), Round University Ranking (RUR), U-Multirank มีอันดับที่ดีขึ้น โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการเชิงรุกในเรื่องนี้ ล่าสุด จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับเอเชีย โดย THE Asia University Rankings 2022 มทส. เป็นอันดับที่ 6 ของประเทศไทย และอันดับที่ 2 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี
เช่นเดียวกับ ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA (Integrity and Transparency Assessment) ที่ได้ทำการศึกษาทั้งในมิติมุมมองภายในองค์กร มุมมองภายนอกองค์กร และการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ทำให้ในปีนี้อยู่ในอันดับที่น่าพอใจ
สำหรับความมั่นคงด้านการเงิน ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงต้องดำเนินการอย่างรัดกุมและรอบคอบ โดยนำมาตรการ “ลด ละ เลิก” มาใช้ การจัดลำดับความสำคัญของโครงการและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ การปรับปรุงระบบการบริหารจัดการของหน่วยวิสาหกิจ ได้แก่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ฟาร์มมหาวิทยาลัย ให้มีผลประกอบการดีขึ้น
ด้านการปรับตัวของมหาวิทยาลัยอันเนื่องมาจากสถานการณ์วิกฤติจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และ Disruptive Technology ทำให้เกิดการปรับรูปแบบการเรียนการสอน การปรับหลักสูตรรองรับผู้เรียนทุกช่วงวัย (Lifelong Learning) การพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ ในรูปแบบ Modular Program ทั้งที่เป็น Degree/Non-Degree เช่น หลักสูตรบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (Integrated Science & Innovation: ISI) ของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ หลักสูตรศาสตร์และศิลป์ดิจิทัลของโครงการ Digitech หลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำงาน (Up-skills/Re-skills) ของสำนักวิชาต่าง ๆ ทั้งยังเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการพ้นสภาพของนักศึกษาอีกด้วย การจัดตั้งสำนักวิชาใหม่ คือ สำนักวิชาศาสตร์และศิลป์ดิจิทัล เป็นการบริหารวิชาการด้านดิจิทัลรูปใหม่ ตอบรับการทำหลักสูตรแบบโมดูล มีระบบสะสมหน่วยกิต หรือ Credit Bank สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างโมดูลร่วมกันของหลายสถาบันทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ การปรับปรุงระบบการคำนวณภาระงานของพนักงานสายวิชาการ ให้ตอบสนองต่อตัวชี้วัดตามนโยบาย SUT 2025 เพื่อต่อยอดไปสู่การทำ Data Warehouse ตอบโจทย์การทำระบบประกันคุณภาพการศึกษา เช่น EdPEx, AUN-QA และอื่น ๆ รวมถึงการวิเคราะห์อัตรากำลังสายปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างองค์กรต่อไป
ก้าวต่อไปภายใต้กรอบยุทธศาสตร์แผนการพัฒนา มทส. ระยะที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570)
ขณะนี้มหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์แผนการพัฒนา มทส. ระยะที่ 13 ยังคงมุ่งเป้ายกระดับการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย (Research University) ซึ่งจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายของรัฐบาลและสอดคล้องกับนโนบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ต้องการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาของไทย ให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติและสังคม ขับเคลื่อนประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดย มทส. เลือกอยู่ในกลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global and Frontier Research)
ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว มทส. ยังมุ่งเน้นกลยุทธ์ที่สำคัญ ได้แก่ การปรับระบบการศึกษาให้รองรับผู้เรียนทุกช่วงวัย ทั้งผู้เรียนกลุ่มเดิม คือ กลุ่มก่อนวัยทำงาน และเพิ่มโอกาสให้ผู้เรียนกลุ่มใหม่ คือ กลุ่มวัยทำงาน การสร้างความเป็นเลิศด้านสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work-Integrated Education: CWIE) ซึ่งยังคงเป็นจุดเด่นของบัณฑิต มทส. การสร้างสรรค์นวัตกรรมบนพื้นฐานองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมขีดความสามารถของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รวมถึงการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) พัฒนาระบบและกลไกในการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่เป็นนักศึกษาและศิษย์เก่า เสริมสร้างความผูกพันระหว่างมหาวิทยาลัยกับนักศึกษาและศิษย์เก่าให้เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่การเป็น Social Enterprise มหาวิทยาลัยที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและเป็นที่พึ่งของสังคม
“SUT PRIDE” ความภาคภูมิใจใน มทส.
ภายใต้ค่านิยม SUT PRIDE (Professionalism I Relationship I Integrity I Delight I Entrepreneurship) ความเป็นมืออาชีพ การสร้างสัมพันธภาพที่ดี ยึดมั่นคุณธรรมและจรรยาบรรณ มีความสุขในการทำงาน การมองโอกาสและลงมือทำ จะปลุกจิตวิญญาณความเป็น มทส. และสานต่อวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งเพื่อก้าวสู่เป้าหมาย เป็น SUT SPIRIT ที่จะทำให้ มทส. ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน
“ผมต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ มทส. ไปในทางที่ดีขี้น เพื่อให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน ขอประชาคม มทส. ทุกคน มาช่วยกัน ร่วมแรง ร่วมใจ ปลุกจิตวิญญาณของความเป็น มทส. ใช้ SUT PRIDE พัฒนาตนเอง พัฒนางานที่รับผิดชอบ ทำงานเป็นทีมอย่างสร้างสรรค์ ช่วยกันขับเคลื่อน มทส. ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน เป็นมหาวิทยาลัยแห่งความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคน”
#มทส #SUT #มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี #32ndSUT #SUTPRIDE #SUTSPIRIT #ความภูมิใจในมทส.
*********************************
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
- มทส. อันดับ 10 สถาบันอุดมศึกษาที่ชำระหนี้ กยศ. ดีที่สุดของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 11 พฤศจิกายน 2567
- มทส. ติด Top 10 ม.ไทย ในการจัดอันดับ ม.ชั้นนำเอเชีย โดย QS World University Rankings: Asia 2025 07 พฤศจิกายน 2567
- รศ. ดร.อัญญานี คำแก้ว อาจารย์ มทส. รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2567 01 พฤศจิกายน 2567
- ตรวจพื้นที่เตรียมการรับเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 25 ตุลาคม 2567
- มทส. ติดอันดับ 6 ร่วม ม.ชั้นนำของไทย อยู่ในกลุ่ม TOP 3 ม.ด้านเทคโนโลยี จากการจัดอันดับ THE World University Rankings 2025 09 ตุลาคม 2567
- มทส. คว้า 2 รางวัลผลงานนวัตกรรมเพื่อการพัฒนานักศึกษา ด้านสุขภาพจิตและด้านสุขภาวะ ในงานสัมมนาวิชาการด้านพัฒนานักศึกษา ปี 2567 01 ตุลาคม 2567
- มทส. เปิดตัว ฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรม ขนาดกลางและใหญ่ ยกระดับและเพิ่มมูลค่าไข่ผำเพื่อการผลิตโปรตีนทางเลือกสู่ Super Food 18 กันยายน 2567
- มทส. รับรางวัลเชิดชูเกียรติ จากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) 30 สิงหาคม 2567
- ขอเชิญศิษย์เก่า นักศึกษา บุคลากร ร่วมกิจกรรม คืนสู่เหย้า 34 ปี สายใย น้องพี่ เลือดสีแสดทอง ศิษย์ มทส. สัมพันธ์ 29 สิงหาคม 2567
- 34 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พัฒนาสู่อนาคตที่ยั่งยืน Innovate the Future 26 กรกฎาคม 2567