รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน เยี่ยมชมอาคารปฏิบัติการชำแหละและตัดแต่งเนื้อโคมาตรฐาน GMP และเยี่ยมชมผลผลิตวัวพันธุ์ โคราชวากิว

รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน เยี่ยมชมอาคารปฏิบัติการชำแหละและตัดแต่งเนื้อโคมาตรฐาน GMP และเยี่ยมชมผลผลิตวัวพันธุ์ “โคราชวากิว” ผลงานวิจัย มทส.

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. เวลา 13.00 น. ณ อาคารปฏิบัติการชำแหละและตัดแต่งเนื้อโคมาตรฐาน GMP และฮาลาลเพื่อการส่งออก ฟาร์มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (ฟาร์มโคเนื้อวากิว) รองศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. ให้การต้อนรับ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชาติมั่นคง” ภายใต้โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมี นายศุภนิมิต เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน



รองศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย เปิดเผยว่า วัวพันธุ์ “โคราชวากิว” เป็นคุณภาพเนื้อจากวัวลูกครึ่งที่สามารถผลิตได้ในไทย โดยได้นำวัววากิวแท้จากญี่ปุ่นมาผสมกับวัวไทย เพื่อให้ได้วัวลูกครึ่ง แล้วนำวัวลูกครึ่งมาทำการขุน เลี้ยงตามกระบวนการผลิตวัววากิวของญี่ปุ่นทุกขั้นตอน เพื่อให้มีไขมันแทรกในเนื้อสูงขึ้น ทำให้เนื้อวัวมีคุณภาพที่ดี เราจึงได้วัวสายพันธุ์ของไทยชื่อว่า “โคราชวากิว” นั่นเอง ซึ่งคุณภาพเนื้อโคราชวากิวของเราเทียบเท่ากับเนื้อวากิว ออสเตรเลีย วัวลูกผสมของเราเนื้อคุณภาพได้เกรด 9 แต่ราคาถูกกว่า ลดการนำเข้าเนื้อจากออสเตรเลีย  เพราะการนำเข้าเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นมีต้นทุนที่แพง การผลิตวัวโคราชวากิวจึงสามารถลดการนำเข้าเนื้อจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี และยังช่วยส่งเสริมให้ประชาชนผู้ทำอาชีพเกษตร-ปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงวัวมีรายได้สูงขึ้นด้วย ศูนย์วิจัยฯ มทส. เปิดให้เกษตรกรภาคอีสาน และทุกจังหวัดเข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อนำองค์ความรู้ไปปฏิบัติเลี้ยงวัว ให้ได้เนื้อวากิวที่มีคุณภาพ เช่น การนำไปเลี้ยงที่สุรินทร์ กลายเป็นสุรินทร์วากิว สุรินทร์โกเบ ขอนแก่นวากิว ระยองวากิว เป็นต้น ปัจจุบันนี้ ฐานความรู้ของศูนย์วิจัยแห่งนี้กลายเป็นแหล่งกระจายความรู้การเลี้ยงวัววากิวไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไปแล้ว ทุกวันนี้เรากำลังต่อยอดไปสู่ “เนื้ออีสานวากิว” ยกระดับสู่การส่งออกเนื้ออีสานวากิวไปแข่งกันสู่ตลาดโลก ประกอบกับ การที่มหาวิทยาลัยได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารปฏิบัติการชำแหละและตัดแต่งเนื้อโคมาตรฐาน GMP และฮาลาลเพื่อการส่งออก ที่ได้มาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทย จึงถือเป็นการสร้างระบบนิเวศอย่างครบวงจรของการผลิตวัวสายพันธุ์ “โคราชวากิว” ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อีกด้วย”

นายอนุชา นาคาศัย กล่าวว่า การลงพื้นที่มาดูผลผลิตวัวพันธุ์ไทยยอดนิยม “โคราชวากิว” รู้สึกดีใจแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ได้เห็นถึงอนาคตของลูกหลานผู้เลี้ยงวัวที่ไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่น โดยเฉพาะพี่น้องภาคอีสาน ซึ่งมีพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงโค และวันนี้การมีอาคารปฏิบัติการชำแหละและตัดแต่งเนื้อโคมาตรฐาน GMP และฮาลาลเพื่อการส่งออก ที่ได้มาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ถือเป็นสถานที่ในการวิจัยพัฒนาและสร้างระบบนิเวศด้านการผลิตโคไทยวากิว เพื่อให้เป็นอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต อันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ทำให้เกิดการส่งออกเนื้อวัวมากยิ่งขึ้น สร้างมูลค่าทางการตลาด ซึ่งเมื่อตลาดมีความต้องการมากขึ้น จะทำให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวมีรายได้มากยิ่งตามลำดับ

การผลิตโคเนื้อในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค  โดยเฉพาะในตลาดประเทศอาเซียนรวมถึงตลาดโลก ยังมีช่องว่างให้เกษตรกรไทยได้นำโคเนื้อเข้าสู่ตลาดอีกมาก เพราะประเทศผู้ผลิตเนื้อโคของโลกโดยเฉพาะออสเตรเลีย บราซิล สหรัฐอเมริกา ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การส่งออกเนื้อโคของประเทศดังกล่าวลดลง จึงเป็นโอกาสทองให้ไทยสามารถส่งออกเนื้อโคได้มากขึ้น ซึ่งความต้องการของตลาดโลก ในปี 2566 คาดว่าจะมีการบริโภคเนื้อโคปริมาณ 56.846 ล้านตัน โดยสหรัฐอเมริกามีการบริโภคมากที่สุด ปริมาณ 12.185 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ จีน 10.330 ล้านตัน และ บราซิล 7.547 ล้านตัน

 

“จากความต้องการโคเนื้อในตลาดโลก สอดคล้องกับการที่กองทุนหมู่บ้านฯ ได้ทำโครงการโคล้านครอบครัว  อีกทั้ง ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อเป็นแหล่งทุนให้พี่น้องสมาชิกฯ กู้ยืมสำหรับเลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะ ครอบครัวไม่เกิน 50,000 บาท คาดว่า 3 ปี จะสามารถคืนทุนได้ โดยตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป จะเป็นกำไรของพี่น้องประชาชน ขอให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ อดทน ตั้งใจ และต้องมั่นศึกษาอัพเดทองค์ความรู้ใหม่ ให้ทันกระแสโลก ซึ่งปัจจุบันนี้ ไทยสามารถผลิตโคเนื้อวากิว ชื่อพันธุ์ “โคราชวากิว” เนื้อคุณภาพเกรดพรีเมี่ยมเทียบเท่าออสเตรเลียและญี่ปุ่นได้แล้ว ด้วยการนำนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี เข้ามาช่วยส่งเสริมในอาชีพ เกษตรกรต้องหมั่นศึกษาหาองค์ความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนาในสายอาชีพอยู่เสมอจึงจะสามารถก้าวทันต่างประเทศ และหลุดพ้นความยากจนไปได้”

 

สำหรับการจัดงาน “สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชาติมั่นคง” ครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดงานครั้งที่ 5 โดยมี กลุ่มเป้าหมายหลัก จากสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ ในพื้นที่รับผิดชอบ 3 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์ เข้าร่วมกิจกรรมอัพเดทองค์ความรู้มากมาย ได้แก่ กิจกรรมเสวนาโดยกองทุนหมู่บ้านต้นแบบ “ทำแล้ว ทำง่าย ทำได้...ไม่ยาก” โดยกองทุนหมู่บ้านดอนกอก หมู่ที่ 2 ตำบลหนองพลวง อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Up Skill เรื่อง โคล้านครอบครัว จากวิทยากร รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อวากิวสัญชาติไทย รวมถึงกิจกรรม Business Matching และยังมีนิทรรศการให้ความรู้จาก กทบ. สำหรับการจัดงานครั้งที่ 6 ขอเชิญชวนสมาชิกกองทุน ฯ จังหวัดนครนายก และพื้นที่ใกล้เคียง มาร่วมงานเพื่อนำองค์ความรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จนำไป พัฒนา ต่อยอดให้คนในครอบครัว รวมถึงชุนชนมีรายได้ที่มั่นคง โดยงานจัดขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ณ จังหวัดนครนายก ต่อไป


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง