มทส. เปิดงานแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม CoEs พร้อมเชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรม

วันนี้ (30 พฤษภาคม 2566) รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นประธานเปิด “งานแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Center of Excellence: CoEs)” จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มทส. เพื่อแสดงผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมพร้อมใช้จาก 10 CoEs มทส. ประกอบด้วย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านฟิสิกส์พลังงานสูงและฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวกลศาสตร์ทางการแพทย์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการประยุกต์ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาธุรกิจไก่โคราช ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมเกษตร และ ศูนย์ความเลิศด้านความเป็นผู้ประกอบการ พร้อมเจรจาหารือความร่วมมือและการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม โดยมี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นักธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักวิจัย มทส. ร่วมงาน ณ ห้อง B6501-A ชั้น 5 อาคารรัฐสีมาคุณากร มทส.
รองศาสตราจารย์ ดร.ระพี อูทเคอ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทส. เผยว่า “ในการจัดงานครั้งนี้มีกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ “อนาคตของ มทส. ในยุค Disruptive Technology” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. และ “ทิศทางของอุตสาหกรรมโคราชและโอกาสความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย” โดย นางธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา การแสดงผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมพร้อมใช้ของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จำนวน 10 CoEs รวมถึงกิจกรรมการเจรจา หารือความร่วมมือ ตลอดจนการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ระหว่าง CoEs กับผู้ใช้ประโยชน์จากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัย กลุ่มวิจัย หน่วยวิจัยหรือห้องปฏิบัติการวิจัย มาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อให้มีการพัฒนาไปสู่ศูนย์วิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทาง สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน โดยได้มีการจัดตั้งหน่วยวิจัย จำนวน 59 หน่วย กลุ่มวิจัย จำนวน 15 กลุ่ม ศูนย์วิจัย จำนวน 27 ศูนย์ และมีศูนย์วิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (CoEs) จำนวน 10 CoEs มีนักวิจัยที่ทำงานอยู่ในหน่วยกลุ่มศูนย์วิจัย มากกว่า 300 คน มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติมากกว่า 400 เรื่องต่อปี ส่งผลให้มหาวิทยาลัยถูกจัดอันดับที่ดีขึ้นเป็นลำดับ โดยอยู่ในอันดับที่ 7 ของประเทศในด้านการวิจัย ของการจัดอันดับโดย Times Higher Education (THE) ในปี 2565 และ 2566”|

ส่วนประชาสัมพันธ์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
30 พฤษภาคม 2566

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง