มทส. ร่วมมือ กลุ่ม GPSC เปิดโครงการนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนาและใช้พลังงานทดแทนอย่างยั่งยืน

มทส. ร่วมมือ กลุ่ม GPSC เปิดโครงการนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ
เพื่อการพัฒนาและใช้พลังงานทดแทนอย่างยั่งยืน
 
วันนี้ (7 กันยายน 2566) รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพย์วรรณ ฟังสุวรรณรักษ์ ที่ปรึกษาโครงการวิจัยและพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ให้การต้อนรับ ดร.รสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ และคณะผู้บริหาร บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC คณะผู้บริหาร บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) และคณะผู้บริหาร บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO) ในพิธีเปิดโครงการนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ ณ  ห้องวิศวพัฒน์ 1 อาคารสิรินธรวิศวพัฒน์ พร้อมเยี่ยมชมพื้นที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำ ณ อ่างสุระ 1 และระบบกักเก็บพลังงาน ณ หอพักสุรนิเวศ 5 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
.
 
 
ทั้งนี้ มทส. โดย โครงการวิจัยและพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด ในเครือบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. ได้ร่วมมือวิจัยและพัฒนาการใช้พลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อลดและแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยใช้บริเวณมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ ขนาดกำลังไฟฟ้ารวมไม่น้อยกว่า 5.99 เมกกะวัตต์ (5.99 MWp(DC)) มีการติดตั้ง 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 คือ Solar rooftop ณ อาคารสุรเริงไชย อาคารเรียนรวม 1 หลังคาที่จอดรถอาคารเรียนรวม 1 อาคารเครื่องมือ 10 อาคารเครื่องมือ 12 และหอพักสุรนิเวศ 5 รูปแบบที่ 2 คือ Solar Floating ณ อ่างสุระ 1 ซึ่งดำเนินการติดตั้งโครงการแล้วเสร็จและเริ่มใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โครงการฯ นี้จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ได้กว่า 8.5 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี หรือคิดเป็นจำนวนเงินที่ประหยัดได้ประมาณ 510 ล้านบาท ตลอดอายุการใช้งาน 25 ปี สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงประมาณ 115,000 ตัน ในส่วนของ Solar Floating ยังช่วยลดการระเหยน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่า 30,000 ลูกบาศก์อีกด้วย 
 
 
 
“โครงการนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ในหลายมิติ ทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้นวัตกรรมด้านพลังงานทดแทน เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและปลุกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนภารกิจของ มทส. ด้านการพัฒนากำลังคนผ่านหลักสูตรการศึกษา เช่น วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมไฟฟ้าอุตสาหกรรม วิศวกรรมวัสดุ วิศวกรรมการจัดการพลังงาน ทั้งยังเป็นห้องปฏิบัติการเรียนรู้จริงและห้องทดสอบขนาดใหญ่ (Pilot Plant) สำหรับการศึกษาในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา สนับสนุนการพัฒนางานวิจัยให้เกิดนวัตกรรมและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านพลังงานทดแทน ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประทศ ผมมั่นใจว่าโครงการนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะนี้ จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ร่วมสร้างแรงบันดาลใจ ความคิดริเริ่ม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. กล่าว
 
.
 
 
ในโอกาสนี้ ได้มีพิธีมอบรางวัลการประกวดออกแบบลวดลายภาพผนังห้องควบคุมระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) ซึ่งเป็นระบบที่สำคัญในการบริหารจัดการพลังงานทางเลือกจากแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ติดตั้ง ณ บริเวณอาคารหอพักสุรนิเวศ 5 โดยเชิญชวนนักศึกษาทุกระดับชั้นเข้าร่วมการประกวดออกแบบลวดลายโดยรอบผนังห้องควบคุม ให้มีความสวยงามและสอดคล้องกับการเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านนวัตกรรมพลังงานและเทคโนโลยีทางวิศวกรรมไฟฟ้า ทั้งนี้ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ นายเกศดา แจ่มใส สาขาวิชาวิศวกรรมปิโตรเลียมและเทคโนโลยีธรณี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และผู้ได้รับรางวัลชมเชย 3 รางวัล เงินรางวัล 2,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ นางสาวกวิสรา โนนดอน นางสาวรัมภ์รดา เพ็ชรเจริญสุข สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และ นางสาวชนกนันท์ หน้านวล สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสัตว์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร สนับสนุนเงินรางวัล โดย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
 
 
 
 
 
---------------
 
.
ส่วนประชาสัมพันธ์ 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 
7 กันยายน 2566

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง