มทส. ผลงานโดดเด่น เข้าชิงรางวัล THE AWARDS ASIA 2024 สาขาความเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมและโครงการวิจัยแห่งปี

มทส. ผลงานโดดเด่น เข้าชิงรางวัล THE AWARDS ASIA 2024
สาขาความเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมและโครงการวิจัยแห่งปี
 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย เข้าชิงรางวัล THE Awards Asia 2024 ใน 2 สาขาสำคัญ ได้แก่ สาขาผลงานดีเด่นด้านความเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม (Outstanding Contribution in Environmental Leadership) และสาขาโครงการวิจัยแห่งปี (Research Project of the Year) ด้านศิลปศาสตร์มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ จากผลงานการเข้าร่วมแข่งขันกว่า 600 รายการ ตอกย้ำความเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียและผลงานอันโดดเด่นของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เน้นย้ำถึงความสําเร็จในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคม มุ่งสู่ความยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ SUT2025 การพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน
 
 
 
 
 
ความมุ่งมั่นของ มทส. และหมุดหมายสำคัญในการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน หนึ่งในโครงการที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูง คือ การพัฒนาเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ “เทรลคลองปลากั้งมิตรภาพไทย-แคนาดา” ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ 4 (คลองปลากั้ง) ภายใต้ผืนป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยความร่วมมือระหว่าง มทส. สถานทูตแคนาดา อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และชุมชนคลองปลากั้ง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่าและความตึงเครียดของชุมชน นำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน โดยโครงการบุกเบิกเส้นทางเทรลอัจฉริยะแห่งแรกของประเทศไทยนี้ ณ ปัจจุบัน ไม่เพียงรองรับผู้เข้าเยี่ยมชมแล้วกว่า 800 คนเท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้มากกว่า 250,000 บาท ให้กับชุมชนกว่า 60 ครอบครัว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SUTSDGs 
 
 
 
 
นอกจากนี้ มทส. ยังได้เข้าชิงรางวัลประเภทโครงการวิจัยแห่งปี โดยดำเนินโครงการในการพัฒนาชุมชนในโครงการ "นวัตกรรมการพัฒนาชุมชนผ้าไหมอย่างยั่งยืนในจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย" ซึ่งจัดการกับกับดักรายได้ปานกลางของประเทศไทย เพิ่มขีดความสามารถเชิงกลยุทธ์ให้กับชุมชนผ้าไหมแบบดั้งเดิม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมทางศิลปะ และแนวทางการเป็นผู้ประกอบการ ที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มทส. ได้ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรในชุมชน 70 คน ส่งผลให้เกิดนวัตกรรม 11 รายการ ธุรกิจใหม่ 5 ธุรกิจ และอาชีพสร้างสรรค์ 2 อาชีพ ความคิดริเริ่มนี้ได้รับการสนับสนุนโดยแพลตฟอร์มนวัตกรรมการเรียนรู้และศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัล ดึงดูดคนรุ่นใหม่ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผ้าไหม ซึ่งมีส่วนช่วยในการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับรากหญ้าและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โมเดลจําลองนี้ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ แสดงถึงการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมผ้าไหมที่ยั่งยืนทั่วประเทศ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง