มทส. จับมือ กู๊ด อินโนเวชั่น คอร์ปอเรชั่น พัฒนาแพลตฟอร์ม ระบบจัดการพลังงานไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ภายในคอนโดมิเนียม

มทส. จับมือ กู๊ด อินโนเวชั่น คอร์ปอเรชั่น พัฒนาแพลตฟอร์ม ระบบจัดการพลังงานไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ภายในคอนโดมิเนียม
 
.
วันนี้ (2 สิงหาคม 2565) รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และ นท. ดร.ภณ ทัพพินท์กร ร.น. ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท กู๊ด อินโนเวชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด สำนักงานใหญ่ ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาแพลตฟอร์มระบบจัดการพลังงานไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อระบบกริด เพื่อการให้บริการอัดประจุไฟฟ้าแก่รถอีวีและระบบไฟฟ้าส่วนกลางภายในคอนโดมิเนียม” เพื่อลดการใช้พลังงานจากกริดไฟฟ้าและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพย์วรรณ ฟังสุวรรณรักษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. พร้อมด้วย ผศ. ดร.ติกะ บุนนาค ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา และ นายวิศรุตน์ ไชยเพ็ชร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กู๊ด อินโนเวชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมลงนามเป็นพยาน ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

 

 
.
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มทส. จะดำเนินการออกแบบแพลตฟอร์มเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันสำเร็จรูปที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับระบบจัดการพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อระบบกริด ซึ่งนำมาใช้ร่วมกับพลังงานไฟฟ้าจากระบบสายส่งอย่างเหมาะสมและควบคุมได้โดยใช้อุปกรณ์ inverter ที่มีพอร์ตเชื่อมต่อกับระบบ เพื่อประโยชน์ด้านการบริการอัดประจุไฟฟ้าแก่ยานยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี และระบบไฟฟ้าส่วนกลางที่จะนำไปติดตั้งภายในคอนโดมิเนียม โดยฟังก์ชันของแพลตฟอร์มระบบจัดการพลังงานจะแสดงผลข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ ในแบบ real time เช่น ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ปริมาณพลังงานที่ใช้จากระบบสายส่ง ปริมาณหน่วยไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายที่ผู้ใช้บริการใช้ในการอัดประจุรถอีวีและ carbon credits เป็นต้น รวมถึงควบคุมการจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับโหลดส่วนกลางของคอนโดมิเนียมในกรณีที่ไม่มีผู้ใช้บริการอัดประจุรถอีวี ในส่วนของบริษัทจะดูแลการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในโครงการ โดยมีขนาดกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ติดตั้งไม่เกิน 100 กิโลวัตต์ รวมถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการทดสอบ การบำรุงรักษาและดูแลระบบผลิตไฟฟ้าต่าง ๆ นับเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้จริง เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
 
 
 
 

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง