ผู้อำนวยการใหญ่องค์การวิจัยเซิร์นรับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก มทส.

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประทับเป็นองค์ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และ อลิช (ALICE, A Large Ion Collider Experiment) หนึ่งในห้องปฏิบัติการเครื่องตรวจหาอนุภาคขององค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (European Organization for Nuclear Research) หรือ เซิร์น (CERN)
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2555 ณ วังสระปทุม กรุงเทพมหานคร


 

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การวิจัยเซิร์นรับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก มทส.

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) มอบปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาฟิสิกส์ แก่ ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ (Professor Rolf-Dieter Heuer)  ผู้อำนวยการใหญ่องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (European Organization for Nuclear Research) หรือ เซิร์น (CERN) โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้ ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ณ วังสระปทุม กรุงเทพมหานคร

 

ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ (Professor Rolf-Dieter Heuer)
Copyright by CERN
CERN-HI-1309217 02  Photograph by  Maximilien Brice, 04 Sep 2013

 

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า “สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้มีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาฟิสิกส์ แก่ ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ นักฟิสิกส์อนุภาคชาวเยอรมัน ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา Large Hadron Collider, LHC ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่และมีพลังงานสูงที่สุดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ส่งผลให้เซิร์นประสบความสำเร็จในการทำการวิจัยทดลองเพื่อค้นหาอนุภาค ‘ฮิกส์ (Higgs particle)’ ซึ่งเป็นอนุภาคมูลฐานที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน นับตั้งแต่มีการตั้งสมมติฐานเรื่องการมีอยู่ของอนุภาคนี้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. และผู้บริหารของ มทส. และ ผู้บริหารของอลิซ เข้าพบศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ (Rolf Heuer)(ยืนกลาง) ผู้อำนวยการใหญ่ของเซิร์น


ในวันที่ 16 มีนาคม 2552 ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนเซิร์น หลังจากนั้นได้สนับสนุนโครงการในพระราชดำริที่เกี่ยวกับเซิร์น อาทิ โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ไทยเพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น โครงการส่งเสริมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้าร่วมเยี่ยมชมและเรียนรู้กิจกรรมของเซิร์น โครงการส่งเสริมการจัดกิจกรรมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเซิร์น โครงการส่งเสริมนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก รวมทั้งนักวิจัยไทยไปทำงานวิจัยที่เซิร์น และพัฒนาให้เกิดการทำวิจัยร่วมกับเซิร์น เป็นต้น อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ของไทยมีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ของเซิร์น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดโอกาสให้ มทส. ได้ทำงานวิจัยร่วมกับห้องปฏิบัติการไอออนหนัก ALICE (A Large Ion Collider Experiment) หรือ อลิซ จนนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มทส. กับ ALICE เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2555 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประทับเป็นองค์ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยต่อไปในอนาคต สภา มทส. ตระหนักในความรู้ความสามารถของ ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ จึงมีมติเอกฉันท์มอบปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ฟิสิกส์) เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป” อธิการบดี มทส. กล่าว



ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. และคณะถ่ายถาพร่วมกับ ดร.เจียเบลลิโน (Giubellino) และ ดร.ชูลตซ์ (Schultz) โฆษกและ รองโฆษกของอลิซ หน้าสถานีทดลอง

 

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี และผู้บริหารของ มทส. และผู้บริหารของอลิซ เยี่ยมชมสถานีทดลองอลิซ (ALICE) ที่เซิร์น (CERN) เมืองเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์

ส่วนประชาสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง