ผอ.เซิร์น เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มทส.


เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556เวลา 17.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารนำ ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ (Professor Rolf-Dieter Heuer) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (European Organization for Nuclear Research) หรือ เซิร์น (CERN) เข้ารับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ณ วังสระปทุม กรุงเทพมหานคร




 

สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้มีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาฟิสิกส์ แก่ ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ นักฟิสิกส์อนุภาคชาวเยอรมันผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา Large Hadron Collider, LHC ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่และมีพลังงานสูงที่สุดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ส่งผลให้เซิร์น ประสบความสำเร็จในการทำการวิจัยทดลองเพื่อค้นหาอนุภาค ‘ฮิกส์ (Higgs particle)’ ซึ่งเป็นอนุภาคมูลฐานที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน นับตั้งแต่มีการตั้งสมมติฐานเรื่องการมีอยู่ของอนุภาคนี้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว โดยนับแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2552 ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์ ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนเซิร์น หลังจากนั้นได้สนับสนุนโครงการในพระราชดำริที่เกี่ยวกับเซิร์น อาทิ โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ไทยเพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น โครงการส่งเสริมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้านวิทยา ศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้าเยี่ยมชม โครงการส่งเสริมนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก รวมทั้งนักวิจัยไทยไปทำงานวิจัยและพัฒนาให้เกิดการทำวิจัยร่วม กับเซิร์น เป็นต้น ทั้งยังได้สนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ของไทยมีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานวิจัยต่างๆ ของเซิร์น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้คณาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ทำงานวิจัยร่วมกับห้องปฏิบัติการไอออนหนัก ALICE (A Large Ion Collider Experiment) หรือ อลิซ จนนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มทส. กับ ALICE เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประทับเป็นองค์ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยต่อไปในอนาคต 
 



จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสตอบ สรุปใจความตอนหนึ่งว่า “...ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ดีเทอร์ ฮอยเออร์...นอกจากท่านจะเป็นผู้มีความรู้ มีความสามารถสูง และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแล้ว ท่านยังได้พยายามแสวงหาแนวทางที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทาง ด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นทั่วโลก ข้าพเจ้าหวังว่า ความพยายามนี้สามารถนำไปสู่ความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศต่าง ๆ ทำให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้โดยปราศจากข้อขัดแย้ง โดยมีหลักการทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเข้าหากัน สำหรับนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ตลอดจนนักศึกษาจากประเทศไทยนั้น การได้รับการยอมรับให้เข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้ ถือเป็นการแสดงถึงมาตรฐานการศึกษาและคุณภาพของประชากรในประเทศได้อย่างดียิ่ง..”



 

 

 


ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.
จันทรรัตน์ บุญมาก : ภาพ/ข่าว


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง