มทส. ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ จัด วทท 41 เปิดประตูสู่อาเซียนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มทส. ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ จัด วทท 41

เปิดประตูสู่อาเซียนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยครั้งที่ 41 (วทท 41) หัวข้อ ประตูสู่อาเซียนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Gateway to ASEAN with Science and Technology) ระหว่างวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน 2558 เชิญนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ปี 1996 ร่วมปาฐกถาพิเศษ ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานพิธีเปิดการประชุม ในวันศุกร์ที่ 6พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องวิทยพัฒน์ อาคารเรียนรวม 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจังหวัดนครราชสีมา

 

 

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า “นับเป็นครั้งที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการระดับชาตินี้ โดยครั้งแรกจัดการประชุม วทท 31 เมื่อปี 2548 และการประชุม วทท 41 ในปีนี้ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง 25 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย การประชุม วทท เป็นเวทีแสดงผลงานวิชาการที่นักวิทยาศาสตร์นักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา จากหลากหลายสาขาทั่วประเทศ ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากต่างชาติ ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งวิทยากรและผู้บรรยายรับเชิญทั้งของไทยและประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อให้การประชุมครั้งนี้เป็นการเปิดประตูสู่อาเซียนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

ความพิเศษของการประชุมวทท 41 นอกเหนือจากกิจกรรมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์แขนงหลักที่จัดเป็นประจำทุกปีแล้ว ในปีนี้ มทส. โดยสำนักวิชาต่าง ๆ และสถาบันเจ้าภาพร่วม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาคมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมสัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการ มีหัวข้อครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่าง ๆ อีกหลากหลายสาขา อาทิ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีสารสนเทศ ภูมิสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ รวมไปถึงด้านสะเต็มศึกษา และการประยุกต์ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอน

 

โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ จริยธรรมของนักวิจัย ฟิสิกส์การแพทย์การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ โดยวิทยากรจากอิตาลี จีนสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน Workshop การดูแลผู้สูงวัย โดยวิทยากรจากสิงคโปร์ SENSOR TESTING โดยวิทยากรจาก CERN เทคโนโลยีวัสดุโดยวิทยากรจากสวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เทคโนโลยีการกำจัดขยะครบวงจร โดยวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี การพัฒนาสะเต็มศึกษาในอาเซียน โดยวิทยากรจากมาเลเซีย เป็นต้น และหลายหัวข้อในการประชุมครั้งนี้ ยังอยู่ในกระแสที่เป็นที่สนใจ จากการศึกษาวิจัยในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ได้รับการประกาศรางวัลโนเบลล่าสุด

 

นอกจากนี้ มทส. ยังได้รับเกียรติจากสมาคมฯ จัดโครงการค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ครั้งที่ 11 โดยมีผู้แทนเยาวชนทั้งระดับประถมและมัธยมศึกษาที่ชนะเลิศการแขงขันประเภทต่าง ๆ จาก 6 ศูนยภาคทั่วประเทศรวมทั้งอาจารยที่ปรึกษา รวมกว่า 400 คน มาเขาค่ายวิทยาศาสตร ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ระหว่างวันที่ 25 - 28 ตุลาคม 2558 นี้ด้วย” อธิการบดี มทส. กล่าว  

 

 

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวด้วยว่า สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ  ดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมวิทยาศาสตร์มาต่อเนื่อง รวมถึงการจัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วทท) ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ปีนี้เป็นปีที่ 41 ทั้งนี้กิจกรรมหลักของสมาคมฯ เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ มุ่งเน้นกิจกรรมนอกหลักสูตร ได้แก่ การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ การจัดค่ายวิทยาศาสตร์และการประกวดแข่งขันกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ โดยกิจกรรมนอกหลักสูตรเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความรู้ทางวิชาการ คือ เยาวชนยุคใหม่ต้องคิดเป็น ทำเป็น ทำงานเป็นทีมได้ และทำหน้าที่เป็นผู้ตามที่ดีหรือเป็นผู้นำที่ดีได้ ซึ่งทักษะต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นไม่สามารถหาได้ในชั้นเรียน”

 

       

ศาสตราจารย์ ดร.เปี่ยมสุข พงษ์สวัสดิ์ ประธานจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยครั้งที่ 41 กล่าวว่าการประชุม วทท 41 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 และจะทรงประทับรับฟังการบรรยายในพิธีเปิด จากนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 1996 ได้แก่ Professor Douglas Osheroff จาก Stanford University สหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ “HOW ADVANCES IN SCIENCE ARE MADE” และการบรรยายจากนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของประเทศไทย ประจำปี 2558 ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น นักวิจัยสาขาชีวเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ “ENZYME CATALYSIS AND ENGINEERING FOR SUSTAINABLE TECHNOLOGY” นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดงานยังได้เชิญนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงจากในและต่างประเทศมาบรรยายประมาณ 110 ท่าน เป็นการจัดประชุมนานาชาติเกือบเต็มรูปแบบ มีวิทยากรและผู้เสนอผลงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน  สำหรับรูปแบบการนำเสนอนอกจากการบรรยายและโปสเตอร์ใน 13 สาขาวิชา ยังมีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับงานวิจัยระดับแนวหน้าโดยนักวิทยาศาสตร์ไทย 4 ท่าน และด้านจริยธรรมของนักวิจัย โดยเฉพาะด้านการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน อีกทั้งมีการนำเสนอผลงานใน Symposia และ Workshop ที่จัดคู่ขนานกันอีกกว่า 15 สาขาวิชา มีผู้เสนอผลงานประมาณ 600 ผลงาน และมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานแล้วกว่า 1,500 คน นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการแสดงเครื่องมือและผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยจากบริษัทต่าง ๆ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายระดับประเทศ เพื่อตัดสินโครงงาน Best of the Best ในงานครั้งนี้ด้วย”  

 

 

 

ส่วนประชาสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

10 ตุลาคม 2558


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง