ครบทศวรรษแรกความร่วมมือ ทปอ. ไทย – อินโดนีเซีย พร้อมใจขยายแนวร่วมสู่ทศวรรษใหม่

ครบทศวรรษแรกความร่วมมือ ทปอ. ไทย – อินโดนีเซีย พร้อมใจขยายแนวร่วมสู่ทศวรรษใหม่

         การประชุมเชิงวิชาการระหว่างที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ. CUPT = Council of University Presidents of Thailand) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งอินโดนีเซีย (CRISU = Council of Rector of Indonesia State University) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร จนถึงการประชุมครั้งที่ 10 ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นการปิดฉากทศวรรษแรกของความร่วมมือ โดยในสี่ครั้งแรกมีการประชุมเชิงวิชาการและการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เฉพาะในผู้บริหารระดับอธิการบดีเท่านั้น แต่ในการประชุมร่วมครั้งที่ 5 ด้วยความตระหนักร่วมกันเพื่อที่จะให้มีการนำผลการประชุมไปปฏิบัติได้จริง ได้ขยายระดับการประชุมเป็น 3 ระดับ คือระดับอธิการบดี ระดับคณบดี และระดับผู้นำนักศึกษา สำหรับการประชุมครั้งที่ 10 นี้ ได้กำหนดแนวคิดหลัก เรื่อง การบริหารจัดการและการสร้างภาวะผู้นำในทรัพยากรบุคคล

           ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท  สืบค้า  อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวจากเมืองโบกอร์ว่า  “การประชุมครั้งที่ 10 นี้ นับว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมมากที่สุด อธิการบดี คณบดี และผู้นำนักศึกษา จากประเทศอินโดนีเซียมากกว่า 250 คน และจากประเทศไทยจำนวน 80 คน ที่เป็นเช่นนั้นอาจจะเนื่องจากทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้ร่วมจัดประชุมไตรภาคีทางวิทยาศาสตร์ระหว่างอินโดนีเซีย – ไทย – ฝรั่งเศส ในหัวข้อสอดรับกับสถานการณ์ปัญหาเขม่าควันไฟในอินโดนีเซียในปัจจุบัน กำหนดหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) และเรื่องสุขภาพ” โดยมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยไทยจำนวน 6 คน นำเสนอผลงานในการประชุมครั้งนี้ด้วย ผลของการประชุมมุ่งสู่การเตรียมพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป

 

            สำหรับผลการประชุมระหว่าง ทปอ. ไทย – อินโดนีเซีย ที่น่าสนใจจากทั้ง 3 ระดับ สรุปได้ ดังนี้

-          ทั้งสองประเทศจะร่วมกันสร้างฐานข้อมูลสถาบันอุดมศึกษาสมาชิกเพื่อให้ผู้สนใจเรื่องหลักสูตร หัวข้อวิจัย อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้วิจัย อัตลักษณ์และความโดดเด่น เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางด้านการเรียนการสอน และการวิจัยให้มากขึ้น

-          การเทียบโอนหน่วยกิต กับรับรองวิทยฐานะและมาตรฐานทางวิชาการของอาชีพอาเซียนอิสระเป็น 8 อาชีพ ควรสร้างกติกาข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

-          อธิการบดีในฐานะผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยควรอำนวยความสะดวกในการสนับสนุนให้คณาจารย์ นักวิจัยในคณะวิชา ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกันมากขึ้น

-          อธิการบดีควรสนับสนุนกิจกรรมร่วมกันของนักศึกษา 2 ประเทศ เพื่อสอดรับกับเสาหลักที่ 3 ของอาเซียน คือ ประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน เช่น แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การแข่งขันกีฬา จัดค่ายพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นต้น”

          “ในการประชุมครั้งที่ 11 เพื่อประเดิมความร่วมมือในทศวรรษที่สอง ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ รับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างวันที่ 27 – 31 ตุลาคม 2559 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าควรเชิญที่ประชุมอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยในอาเซียนเพื่อบ้านของเราเข้าร่วมด้วย เช่น มาเลเซีย ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม เป็นต้น หากไม่พร้อมที่จะร่วมมือกับทั้งหมด อาจเชิญเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะผู้สังเกตการณ์ก่อนก็ได้ ทั้งนี้ ทาง ทปอ. ไทย อยากเห็นบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์ความเป็นปึกแผ่น มีเอกภาพ และสร้างความกลมกลืน(harmonization) ของสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคอาเซียนของเรา”  ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า ประธาน ทปอ. กล่าวสรุป

                        ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.

29 ตุลาคม 2558

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง