สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารปฏิบัติการวิจัยรังสีรักษาโบรอนจับยึดนิวตรอน มทส.

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารปฏิบัติการวิจัยรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคมะเร็งในอวัยวะสำคัญโดยไม่ทำลายเนื้อเยื้อโดยรอบ ในการนี้มหาวิทยาลัย น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องฆ่ามอดหนังสือด้วยคลื่นความถี่วิทยุ และเครื่อง มทส. ไอยรา คลัสเตอร์ รุ่นที่ ๔ สำหรับประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อใช้ประโยชน์ตามพระราชอัธยาศัย
วันนี้ (๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘) เวลา ๐๙.๑๒ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จ พระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ถึงมณฑลพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารปฏิบัติการวิจัยรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอนหรือ BNCT (Boron Neutron Capture Therapy ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมาเพื่อประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารปฏิบัติการวิจัยรังสีรักษา โดยมีศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้าอธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เฝ้าฯ รับเสด็จฯ
อธิการบดีกราบบังคมทูลรายงานโครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอนและการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุนารี และเบิกบุคคล องค์กร ผู้บริจาคเงินเข้ารับพระราชทานโล่ที่ระลึกจำนวน ๘ ราย ประกอบด้วย ๑.ศาสตราจารย์ไพจิตร โรจนวานิช และในนามมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ ๒.ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน (ผู้แทนนายณรงค์ ศรีสอ้าน) ๓.นางละออ ตั้งคารวคุณ (ผู้แทน บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด) ๔.นางสุจินต์ สถิตพิทยายุทธ์ (ผู้แทน บริษัท แบบ แปลน แผน จำกัด) ๕.นายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล (ผู้แทน บริษัท บีเอ็นเอฟ แอสเสท แมเนจเม้นท์ จำกัด) ๖.นายชาญชัย ชาญชนาไพบูลย์ (ผู้แทน บริษัท ชาญไพบูลย์คอร์ปอเรชัน จำกัด) ๗.นายประภาส ชุติมาวรพันธ์ ๘.นายเลิศชัย นามวิชัยศิริกุล
จากนั้นทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิจัยรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอนและเสด็จฯ เข้าสู่ภายในอาคารสำนักงานศูนย์ปฏิบัติการวิจัยรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอนทอดพระเนตรแบบจำลองอาคารฯและนิทรรศการเกี่ยวกับรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอน (Boron NeutronCapture Therapy) ซึ่งถือเป็นเทคนิคที่ได้มีการวิจัยและพัฒนาอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น ยุโรป สามารถนำมาใช้ในขั้นคลินิกจนเป็นผลสำเร็จ
โดยการรักษาด้วยเทคนิคนี้จะทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็ง และไม่ทำลายเนื้อเยื่ออื่น ๆโดยรอบ นับเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมในการรักษาโรคมะเร็งในอวัยวะสำคัญซึ่งเป็นแบบจำกัดพื้นที่เช่น สมอง ศีรษะ และลำคอ เนื่องจากลดความเสี่ยงจากผลของการผ่าตัดใหญ่ จึงสามารถช่วยเพิ่มระยะเวลาการรอดชีวิตของผู้ป่วยให้ยาวนานมากขึ้นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้รับสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งโครงการนี้ขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัย และให้บริการด้านรังสีรักษาโดยเน้นการบูรณาการการใช้ประโยชน์องค์ความรู้ร่วมกันระหว่างฟิสิกส์นิวเคลียร์ เวชศาสตร์นิวเคลียร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการให้การรักษาและบริการทางสาธารณสุขในระดับสูง สำหรับประชาชนในพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างรวมทั้งกระจายความเจริญด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าสู่ส่วนภูมิภาคและเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
สำหรับการก่อสร้างอาคารห้องปฏิบัติการรังสีรักษา จะดำเนินการควบคู่ไปกับการติดตั้งเครื่องกำเนิดนิวตรอนขนาดเล็ก(Miniature Neutron Source Reactor) ที่ได้พัฒนาให้มีความก้าวหน้าจนสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีและมีความปลอดภัยสูง เป็นที่ยอมรับขององค์กรควบคุมความปลอดภัยในระดับนานาชาตินอกจากนี้เครื่องกำเนิดนิวตรอนขนาดเล็กได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้สำหรับการวิจัยในด้านอื่นๆอีก ได้แก่ ๑. การวิเคราะห์ธาตุโดยใช้เทคนิคการอาบรังสีนิวตรอนเพื่อวิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในสารตัวอย่าง ๒.การถ่ายภาพวัสดุโดยใช้นิวตรอนเพื่อดูลักษณะภายในของวัสดุ โดยไม่ทำให้วัสดุสลาย ๓.การปรับปรุงคุณภาพอัญมณี โดยการอาบรังสีนิวตรอนทั้งนี้ รังสีนิวตรอนจะไปทำปฏิกิริยากับธาตุต่างๆ ภายในอัญมณีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ทำให้มีสีสันสวยงามยิ่งขึ้นและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น๔.การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช ๕.งานผลิตไอโซโทปรังสีเพื่อใช้ในทางการแพทย์สำหรับวินิจฉัยโรคและการบำบัดรักษา และ๖.การศึกษาวิจัยด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์ ซึ่งหลังการติดตั้งพร้อมทดสอบระบบการทำงานคาดว่าแล้วเสร็จพร้อมให้บริการเพื่อรองรับงานวิจัยได้ในปีพ.ศ. ๒๕๖๔
ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัย ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องฆ่ามอดหนังสือด้วยคลื่นความถี่วิทยุและเครื่อง มทส ไอยรา คลัสเตอร์ รุ่นที่ ๔ สำหรับประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรม จากคณาจารย์สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเพื่อใช้ประโยชน์ตามพระราชอัธยาศัย
โดยเครื่องฆ่ามอดหนังสือด้วยคลื่นความถี่วิทยุ คณะผู้วิจัยได้ค้นคว้าวิจัยและออกแบบเพื่อถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาส ทรงเจริญพระชนมายุ๕ รอบ ๖๐ พรรษา และในโอกาสครบ ๒๕ ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีโดยได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติและสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) การพัฒนาออกแบบสร้างเครื่องฆ่ามอดหนังสือและแมลงในหนังสือด้วยคลื่นความถี่วิทยุนี้ทำการออกแบบวงจรให้สามารถปรับเปลี่ยนค่าความถี่และกำลังงานของคลื่นวิทยุได้เพื่อให้ได้ระบบการเกิดความร้อนแก่มอดและแมลงในหนังสือที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพสูงทำให้ได้เทคโนโลยีใหม่ที่ประหยัดพลังงาน ใช้งานได้ง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากการทดสอบพบว่า เมื่อให้ความร้อนโดยใช้เวลาประมาณ ๓๐ วินาทีมอดมีอัตราการตายทั้งหมด ๑๐๐ % โดยที่อุณหภูมิของหนังสือมีความร้อนประมาณ ๓๖ องศา ซึ่งถือว่าสามารถฆ่ามอดหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับเครื่อง มทส ไอยรา คลัสเตอร์รุ่นที่ ๔ สำหรับประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ มีลักษณะจำเพาะที่สำคัญคือสามารถทำงานได้ในอุณหภูมิห้องปกติ โดยไม่ต้องติดตั้งตัวเครื่องไว้ในศูนย์ข้อมูลเป็นคอมพิวเตอร์คลัสเตอร์ ประหยัดพลังงานที่มีจำนวนหน่วยประมวลผลมากที่สุดเท่าที่เคยสร้างขึ้นในประเทศไทยระบบซอฟต์แวร์สำหรับจัดการในตัว แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทคือ ซอฟต์แวร์ระบบคลาวด์เชิงผสมข้ามแพลตฟอร์ม(Cross-platformHybrid Cloud) และ ซอฟต์แวร์ประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data Analytics) โดยซอฟต์แวร์ระบบคลาวด์เชิงผสมข้ามแพลตฟอร์ม มีหน้าที่จัดการระบบโปรแกรมภายในคลัสเตอร์ให้สามารถเพิ่มหรือลดจำนวนโหนดที่ต้องการใช้ทำงานพร้อมๆกันได้ตามความจำเป็น เชื่อมต่อระบบคลาวด์สาธารณะและประเภทของคลาวด์ต่างชนิดกันให้ทำงานเป็นผืนเดียวกันได้ซึ่งแนวคิดระบบคลาวด์ดังกล่าวได้รับการคิดค้นและพัฒนาได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำหรับซอฟต์แวร์ประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่เป็นระบบประมวลผลข้อมูลที่ประกอบไปด้วย ระบบซอฟต์แวร์ Apache Hadoop (ฮาปาเช่ ฮาดู๊ป) และ ADAM (อดัม) ซึ่งได้รับการแก้ไขและปรับแต่งให้สามารถทำงานได้ในสภาวะประหยัดพลังงาน โดยระบบซอฟต์แวร์ ADAM นั้นเป็นระบบสำหรับประมวลผลรหัสพันธุกรรมของมนุษย์เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ในการเกิดโรคมะเร็งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มโอกาสในการประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์สำหรับประมวลผลรหัสพันธุกรรมให้โรงพยาบาลขนาดเล็กหรือคลินิกสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ใช้ตรวจหาความเป็นไปได้ในการเกิดโรคมะเร็งต่อไปในอนาคต
ส่วนประชาสัมพันธ์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
๖พฤศจิกายน ๒๕๕๘
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
- มทส. จัดงานเชิดชูเกียรติและขอบคุณ ผู้เข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และผู้รับเข็มกิตติการทองคำ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2566 25 มีนาคม 2568
- พระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และเข็มกิตติการทองคำ 25 มีนาคม 2568
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มทส. 25 มีนาคม 2568
- มทส. รับรางวัล “อาจารย์” และ “สถาบัน” ต้นแบบด้านการสอน รางวัลเกียรติยศระดับชาติ จาก ควอท ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 21 มีนาคม 2568
- อธิการบดี มทส. ได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตเก่าเคมี จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี 2568 20 มีนาคม 2568
- มทส. ร่วมกับ สมาคมวัสดุประเทศไทย แถลงประกาศผลรางวัล “รางวัลนักวิจัยวัสดุดีเด่น รางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น และรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยวัสดุ ประจำปี 2567” และการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านวัสดุศาสตร์ MRS-Thailand 2025 10 มีนาคม 2568
- มทส. ติดอันดับ 9 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำโลก โดย SCImago Institutions Rankings 2025 06 มีนาคม 2568
- มทส. เปิดตัวการประกวดนวัตกรรมเพื่อพัฒนางาน “รางวัลสุรนวัตร” ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวม 160,000 บาท 26 กุมภาพันธ์ 2568
- ขอเชิญร่วมทอดผ้าป่า มทส. ส่งต่อโอกาสเพื่อการศึกษา พร้อมรับของที่ระลึก วัตถุมงคลรุ่น “สุนทรีวาณี-คุณย่าโม” และร่วมออกโรงทาน 11 กุมภาพันธ์ 2568
- นักวิจัย มทส. รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงาน วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2568 03 กุมภาพันธ์ 2568