สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการ วทท ๔๑

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๔๑ หัวข้อ “ประตูสู่อาเซียนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” (Gateway to ASEAN with Science and Technology) ณ ห้องวิทยพัฒน์ อาคารเรียนรวม 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจังหวัดนครราชสีมา

 

วันนี้ (๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘) เวลา ๑๐.๐๘ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงห้องวิทยพัฒน์อาคารเรียนรวม ๑ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทรงเป็นองค์ประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๔๑ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสมาคม มหาวิทยาลัย และสถาบันเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม เฝ้าฯ รับเสด็จฯ

 

 

ศาสตราจารย์ ดร.เปี่ยมสุข พงษ์สวัสดิ์ ประธานการจัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๔๑ กราบบังคมทูลรายงานการจัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๔๑ หรือ วทท ๔๑ เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดการประชุมภายใต้หัวข้อ “ประตูสู่อาเซียนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างดี สำหรับกิจกรรมการประชุม ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษในช่วงพิธีเปิดการประชุม โดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ค.ศ. ๑๙๙๖ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘ การบรรยายของวิทยากรรับเชิญทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งปีนี้มีจำนวนวิทยากรมากถึง ๑๖๐ คน จาก ๑๘ ประเทศ การอภิปรายกลุ่มการเสนอผลงานวิจัยทั้งในรูปแบบการบรรยายและโปสเตอร์ ๑๓ สาขาวิชา มีการนำเสนอผลงานใน Symposia และ Workshop ที่จัดคู่ขนานกันอีกกว่า ๑๕ สาขาวิชา การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ รวมถึงการประชุมประจำปีขององค์กร สมาคม สาขาที่เกี่ยวข้อง รวมผลงานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมครั้งนี้จำนวนเกือบ ๖๐๐ ผลงาน และมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า ๑,๕๐๐ คน จึงนับเป็นการประชุมทางวิชาการขนาดใหญ่ที่มีการชุมนุมนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลากหลายสาขาจากหลายประเทศ เป็นเวทีของการบูรณาการความรู้สู่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป

 

 

ในการนี้ มีผู้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจำนวนทั้งสิ้น ๒๗ ราย ประกอบด้วย Professor Douglas Osheroff (โปรเฟสเซอร์ ดักลาส โอเชอรอฟ) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ๑ ราย นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ๑ ราย นักเทคโนโลยีดีเด่น ๑ ราย นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ๓ ราย และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ๑ ราย ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ๘ ราย นักเรียนชนะเลิศโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศประจำปี ๒๕๕๗ จำนวน ๘ ราย และผู้สนับสนุนการจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๔๑ จำนวน ๓ ราย

 

  

ต่อมาเป็นการปาฐกถาพิเศษ โดย โปรเฟสเซอร์ ดักลาส โอเชอรอฟ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี ๑๙๙๖ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (StanfordUniversity) ประเทศสหรัฐอเมริกา บรรยายนำในหัวข้อ  "HOW ADVANCESIN SCIENCE ARE MADE” และการบรรยายพิเศษ โดย ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เรื่อง “ENZYME CATALYSIS AND ENGINEERING FOR SUSTAINABLETECHNOLOGY

 

 

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินออกจากห้องวิทยพัฒน์ ทอดพระเนตรโครงงานวิทยาศาสตร์รางวัลเหรียญทอง จำนวน ๙ โครงงาน จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายระดับประเทศ โดย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติของมหาวิทยาลัยเทคโลยีสุรนารี และสถาบันเจ้าภาพร่วม ๖ สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมาคมครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

ส่วนประชาสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง