มทส. ปลื้ม ติด TOP5 ม.ไทยในอันดับม.ชั้นนำประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

มทส.  ปลื้ม ติด TOP5 ม.ไทยในอันดับม.ชั้นนำประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

อธิการบดี มทส.  ปลื้ม ล่าสุดติดอันดับ TOP5 มหาวิทยาลัยไทยจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ของ THE สำนักจัดอันดับชื่อดังของโลก เผยผลการจัดอันดับครั้งนี้สอดรับกับการที่ได้รับการจัดอันดับในกลุ่ม 601-800 ของโลกก่อนหน้านี้ด้วย ทั้งนี้ มีสถาบันอุดมศึกษาจาก 35 ประเทศในกลุ่มนี้เท่านั้นที่ถูกจัดอยู่ใน 200 อันดับแรก ช่วยย้ำภาพลักษณ์และพัฒนาการของมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของไทยที่ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก (World Class University)

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 Times Higher Education หรือ THE สถาบันในการจัดอันดับชั้นนำของโลกได้ประกาศการจัดอันดับที่สำคัญที่เรียกว่าTimes Higher Education BRICS & Emerging Economies Rankings 2016”  หรือ การประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economy Country) ประจำปี 2016 โดยในปีนี้ มทส. ได้รับการจัดอันดับเป็น TOP5 มหาวิทยาลัยของไทยที่ติดอันดับร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 6 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การจัดอันดับ Times Higher Education BRICS & Emerging Economies Rankings ประจำปี 2016 สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในปีนี้ THE ได้ทำการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาจาก 48 ประเทศ ที่ถูกจัดแบ่งประเภทโดยสถาบัน FTSE (http://www.ftserussell.com) ซึ่งมีประเทศสมาชิกที่สำคัญได้แก่ ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ เปรู ชิลี โคลัมเบีย สาธารรัฐเชค ฮังการี มาเลเซีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก โปแลนด์ ตุรกี และไทย เป็นต้น (http://www.wealthwire.com/news/global/2790) ทั้งนี้มีสถาบันอุดมศึกษาจาก 35 ประเทศในกลุ่มนี้เท่านั้นที่ถูกจัดอยู่ใน 200 อันดับแรกของการจัดอันดับ 

การจัดอันดับดังกล่าว เป็นการวัดความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษาในทุกภารกิจหลัก ได้แก่ การสอน การวิจัย การถ่ายทอดความรู้ และภาพรวมของความเป็นนานาชาติ โดยวิธีการที่ใช้วัดและจัดอันดับได้มีความระมัดระวังในการคำนวณเพื่อให้เกิดการสะท้อนคุณลักษณะและพัฒนาการของมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเศรษฐกิจ ค่าน้ำหนักคะแนนจะมีสัดส่วนสูงในด้านการเชื่อมโยงของมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรมและการเป็นนานาชาติมากขึ้น โดยใช้ตัวบ่งชี้จำนวน 13 ตัวบ่งชี้ จาก 5 ด้าน เช่นเดียวกันกับที่ใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ประจำปี 2015-2016 (Times Higher Education World University Rankings 2015-2016)  ได้แก่
1) Teaching: The learning environment คุณภาพการสอน สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของผู้เรียน และสัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา ใช้อ้างอิง 30%  
2) Research: Volume, Income and Reputation คุณภาพงานวิจัย ปริมาณ รายได้ และชื่อเสียงของงานวิจัย 30%
3) Citations: Research Influence การอ้างอิงในงานวิจัย การนำงานวิจัยของสถาบันไปใช้ 20%
4.) International Outlook: Staff, Students and Research) ความเป็นนานาชาติ บุคลากร นักศึกษา และงานวิจัยระดับนานาชาติ 10% และ 5) Industry Income: Innovation รายได้ทางอุตสาหกรรม นวัตกรรมที่เป็นสิ่งใหม่ในวงวิชาการที่มหาวิทยาลัยได้คิดค้นขึ้น 10%

“การที่ มทส. ได้รับการจัดลำดับครั้งนี้ สอดรับกับการที่มหาวิทยาลัยได้รับจัดอันดับในกลุ่ม 601-800 ของโลก ก่อนหน้านี้ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงศักยภาพความเข้มแข็งทางด้านวิชาการและพัฒนาการที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพสูงในระดับสากล อีกทั้งยังแสดงถึงความสำเร็จในการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของไทยและของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ในโลกที่กำลังพัฒนา (Developing World) ที่พร้อมจะก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก (World Class University)  อธิการบดี มทส. กล่าวในที่สุด

ที่มา: https://www.timeshighereducation.com/world-university-rankings/2016/brics-emerging-economies#!/page/0/length/25
 

 

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง