กมธ.วิสามัญฯ แก้ปัญหาการจัดการขยะชุมชน สนช. ดูงานเทคโนโลยีการจัดการขยะแบบครบวงจร มทส.

กมธ.วิสามัญฯ แก้ปัญหาการจัดการขยะชุมชน สนช. ดูงานเทคโนโลยีการจัดการขยะแบบครบวงจร มทส.


ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้อำนวยการเทคโนธานี เจ้าของผลงานวิจัยเทคโนโลยีการจัดการขยะแบบครบวงจร (Integrated Solid Waste Management : ISWM) และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางชีวมวล ให้การต้อนรับ นายชาญวิทย์ วสยางกูร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาการจัดการขยะชุมชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะ ในโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานเทคโนโลยีการจัดการขยะแบบครบวงจรของมหาวิทยาลัย ณ โรงจัดการขยะแบบครบวงจร โรงไพโรไลซีส โรงไฟฟ้าชีวมวล และระบบเผาไหม้ขั้นสูงด้วยเทคโนโลยีพลาสมาแกสซิฟิเคชั่น (Plasma Gasification) ณ ศูนย์ความเป็นเลิศทางชีวมวลมทส. ทั้งนี้ ได้รับความสนใจและแสดงความชื่นชมเป็นอย่างยิ่งจากคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาการจัดการขยะชุมชน โดยมีแนวคิดที่จะเสนอรัฐบาล ในการผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการขยะดังกล่าว ไปใช้แก้ไขปัญหาขยะของชุมชนทั่วประเทศในอนาคต

 



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ เจ้าของผลงานวิจัย กล่าวว่า เทคโนโลยีการจัดการขยะแบบครบวงจร ดังกล่าว นักวิจัยได้ดำเนินการวิจัยเทคโนโลยีดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2549 และประสบความสำเร็จในการวิจัยและการบริหารจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจร รวมถึงการสร้างต้นแบบเทคโนโลยีดังกล่าวขึ้นภายในมหาวิทยาลัย โดยโรงจัดการขยะแบบครบวงจร มทส. ใช้เทคโนโลยีการบำบัดขยะโดยวิธีทางกลและชีวภาพ สามารถรองรับขยะมูลฝอยทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัย ปริมาณสูงสุด 10 ตัน/วัน ผ่านเทคโนโลยีการหมัก เพื่อทำการยุบกองขยะและลดกลิ่น โดยหลังจากการหมักและการคัดแยกมาเข้ากระบวนการเพื่อนำกลับไปใช้ต่อ ขยะอินทรีย์จะถูกนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ สามารถนำไปใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน ใช้งานด้านภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัย ส่วนขยะพลาสติกจะถูกลำเลียงจากโรงกำจัดขยะครบวงจรมายังโรงไพโรไลซิสเพื่อผลิตเป็นก๊าซและน้ำมัน สามารถนำไปใช้ในรถขนขยะ และเครื่องจักรภายในมหาวิทยาลัย การผลิตไฟฟ้า และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเดินเครื่องไพโรไลซิสต่อ ขยะพลาสติกคุณภาพต่ำจะถูกแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งเพื่อใช้โรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนมูลฝอยเหลือทิ้งที่เป็นอินทรีย์สารผสมพลาสติก จะถูกนำไปกำจัดควบคู่กับการผลิตพลังงาน โดยใช้ระบบเผาไหม้ขั้นสูงด้วยเทคโนโลยีพลาสมาแกสซิฟิเคชั่น (Plasma Gasification) ภายในบริเวณเดียวกับโรงไพโรไลซีส ด้วย

“เทคโนโลยีการจัดการขยะแบบครบวงจรของ มทส. ดังกล่าว ถือเป็นการจัดการขยะต้นแบบที่ครบวงจร ช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการขยะได้แบบเบ็ดเสร็จ พึ่งพาตนเองได้ เพราะนอกจากขยะจะถูกกำจัดและแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ได้เกือบหมดแล้ว ยังสามารถเพิ่มมูลค่าจากขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยมีการดำเนินโครงการแบบครบวงจร และพร้อมถ่ายทอดสู่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถบริการจัดการขยะขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป"



ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.
5 ม.ค. 59


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง