บทบาทมหาวิทยาลัยในการสร้างคนเพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ โดย ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน

บทบาทมหาวิทยาลัยในการสร้างคนเพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ โดย ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ปาฐกถา ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ  “บทบาทของมหาวิทยาลัยในระบบนิเวศผู้ประกอบการ”วันที่ 22 สิงหาคม 2559 โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ

ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวัดระดับการพัฒนาด้วยรายได้  แต่ขณะนี้ประเทศไทยยังคงติดกับดักรายได้ปานกลาง มีความเหลื่อมล้ำสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษาและด้านอื่นๆ  มีปัญหาคอร์รัปชั่น และมีความขัดแย้งในสังคมรุนแรง  โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติได้สรุปว่าไทยมีปัญหาทั้งด้านทุนมนุษย์  ทุนสังคมอ่อนแอ  ทุนธรรมชาติเสื่อมโทรม และทุนคุณธรรมจริยธรรมเสื่อมทราม

รัฐบาลปัจจุบันได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นประเทศพัฒนาในโลกที่หนึ่ง  โดยมุ่งกระจายความมั่งคั่ง เพิ่มรายได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  และกำหนดเป็นนโยบายหลัก คือ Model Thailand 4.0 (จากที่ผ่านมา Thailand 1.0  พัฒนาด้วยเกษตรกรรม  สู่ 2.0 อุตสาหกรรมเบา  สู่ 3.0 อุตสาหกรรมหนัก) นำสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ส่งเสริม New Industry Cluster และขับเคลื่อนด้วย Innovation  เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและการแข่งขันที่รุนแรง

 

มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างไร? 

เมื่อพิจารณาจากภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ  ภารกิจหลักที่ถือเป็น Core Functions  คือ

·       สร้างคน  ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยมีคุณภาพและตรงกับความต้องการของสังคม ซึ่งเป็นภาระหลักที่สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องทำ 

·       สร้างความรู้  เพื่อใช้ความรู้ในการสร้างคนให้เป็นคนดีคนเก่ง   เพราะความรู้จะเกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อมีการนำไปใช้ (ไม่ใช่มีไว้เก็บ) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับบุคคลและสังคม

·       สร้างนวัตกรรม  โดยต่อยอดจากงานวิจัย  หรือจากจินตนาการ โดยเกาะเกี่ยวองค์ความรู้ อาทิ กรณีสหกิจศึกษา หรือ Cooperative Education (Coop) เป็นนวัตกรรมที่นำมาใช้เสริมการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อให้พร้อมทำงาน (Employability) ทันทีที่สำเร็จการศึกษา ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างคน

ปัจจุบันเกณฑ์วัดความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยให้ค่าน้ำหนักส่วนใหญ่ใน "การสร้างความรู้" ที่ตรงกับความต้องการทั้งระดับโลก ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ระดับท้องถิ่นและระดับชุมชน  แต่จากประสบการณ์ทำงานในวงการอุดมศึกษาทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติที่ผ่านมา  ประเทศไทยขาดความสมดุลในการสร้างคน  เรามักสร้างคนโดยเน้น "เสริมสร้างความรู้"  แต่เราไม่ให้ศาสตร์ในการ "สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่นและสังคม" (สร้างอาชีพ ไม่ได้สร้างคน)  ซึ่งระดับมัธยมของไทยก็สร้างมาไม่พอ จึงต้องมาเติมเต็มในระดับมหาวิทยาลัย  โดยมหาวิทยาลัยต้องพัฒนาคนให้เป็นคน....ก่อนเป็นครู เป็นแพทย์ เป็นวิศวกรหรือวิชาชีพอื่นๆ  ซึ่งขณะนี้จัดเป็นกลุ่มวิชาศึกษาทั่วไป (General Education-GE)  เพื่อสร้างความเป็นคนให้รู้จักตนเอง ผู้อื่น สังคม วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม  แต่ประเมินแล้วก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ  ต้องปรับต่อไป

ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้อง  "รุก รับ ปรับตัว" สู่ Thailand 4.0 เพื่อสร้างทุนมนุษย์ โดยต้องถือว่า "การสร้างคนเป็นนวัตกรรม"  เพื่อตอบสนองความต้องการ 2 กลุ่ม คือ

·       ผลิตคนที่มีความรู้ในวิชาชีพตรงตามความต้องการตลาดแรงงาน ซึ่งยังเป็นหน้าที่หลักเป็นหัวใจที่ทิ้งไม่ได้ (Market Driven) โดยความคาดหวังของสังคมคือ สร้างคนมีความรู้ระดับสูงที่เรียกว่า Knowledge Workers หรือ แรงงานความรู้ที่มีคุณภาพ และตรงตามความต้องการ  

·       ผลิตคนเพื่อพรุ่งนี้  โดยสร้าง Entrepreneurship Mindset ให้บัณฑิตทุกคนสำหรับโลกยุคใหม่และเตรียมการสำหรับนักศึกษาบางคนที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ  เพราะมีผลวิจัยพบว่า Gen Y & Gen Z  คนทำงานรุ่นใหม่ที่จะเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมต่อไปมีความต้องการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น   โดยแนวทางดำเนินการ ต้องทำครบวงจรแบบ Co-creation ทำคนเดียวไม่ได้โดยต้องมี Partner และ Collaboration ทั้งด้านหลักสูตร การเรียนการสอน Incubator และอื่นๆใน Ecosystem   ตัวอย่างเช่น พัฒนาในรายวิชา GE ก่อนนักศึกษาเข้าสู่ Specialization หรือ ไม่ได้สร้างผู้ประกอบการโดยตรง แต่พัฒนาให้บางคนที่เปลี่ยนใจระหว่างทาง เช่น นักศึกษาวิศวกรรมเรียนต่อยอดด้านผู้ประกอบการ หรือเปิดเป็นประกาศนียบัตรบัณฑิต 1 ปี สำหรับผู้จบแล้ว หรือให้ทำ Coop กับผู้ประกอบการตัวจริง 

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พัฒนาบัณฑิตให้พร้อมทำงานและใช้ภาษาอังกฤษได้  แต่สิ่งที่ทำอยู่ไม่พอจึงริเริ่มสหกิจศึกษา ทำให้ได้ลูกจ้างที่ดีและบัณฑิตได้งานทำ แต่ไม่ใช่การเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งไม่พอสำหรับยุคนี้  และที่ผ่านมาพยายามทำเรื่อง Entrepreneurship บางส่วน แต่ยังไม่ได้ทำเต็มที่  จึงเห็นด้วยว่าเป็นภาระความจำเป็นที่มหาวิทยาลัยต้องเริ่มตรงนี้  และดีใจที่การพัฒนา Entrepreneurship  มีเจ้าภาพเป็นตัวตน คือ สำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในการ "เติมเต็ม" สิ่งที่ทำอยู่ เพื่อทำให้ มทส. ทำสมบูรณ์ส่วนนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ  ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์

สรุปโดย อ.รัชฎาพร  วิสุทธากร

 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง