มทส. ต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ อนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี กรรมวิธีการผลิตน้ำส้มและน้ำมะนาวผงด้วยวิธีการพ่นฝอยแบบแช่เยือกแข็ง

มทส. ต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ อนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี
“กรรมวิธีการผลิตน้ำส้มและน้ำมะนาวผงด้วยวิธีการพ่นฝอยแบบแช่เยือกแข็ง”
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นำทรัพย์สินทางปัญญาจากผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ร่วมมือภาคเอกชนต่อยอดกรรมวิธีการผลิตน้ำส้มและน้ำมะนาวผงด้วยวิธีการพ่นฝอยแบบแช่เยือกแข็ง ไปสู่การผลิตและจำหน่าย โดยกรรมวิธีการดังกล่าวสามารถรักษาคุณค่าทางด้านโภชนาการ รวมถึงประสาทสัมผัสทั้งด้านสี กลิ่น และรสชาติ ได้ใกล้เคียงกับน้ำส้มและน้ำมะนาวคั้นสด
วันนี้ (18 มีนาคม 2562) รองศาสตราจารย์ ดร.บุญชัย วิจิตรเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ แผน และงบประมาณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ นางสาวพีรดา ศุภรพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทสเต็ด เบ็ตเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ร่วมลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี เรื่อง กรรมวิธีการผลิตน้ำส้มและน้ำมะนาวผงด้วยวิธีการพ่นฝอยแบบแช่เยือกแข็ง ผลงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.มาโนชญ์ สุธีรวัฒนานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
รองศาสตราจารย์ ดร.บุญชัย วิจิตรเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ แผน และงบประมาณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัย ให้สามารถขยายผลไปสู่การบริการทางวิชาการ การให้คำแนะนำปรึกษาแก่บุคคลภายนอก โดยการปรับแปลงถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวหน้าได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม ส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีทรัพย์สินทางปัญญาอันเกิดจากผลงานวิจัยที่มีศักยภาพสูง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง “กรรมวิธีการผลิตน้ำส้มและน้ำมะนาวผงด้วยวิธีการพ่นฝอยแบบเยือกแข็ง” ผลงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.มาโนชญ์ สุธีรวัฒนานนท์ ซึ่งได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว สำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยีนี้ ถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการนำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง อีกทั้งยังก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม ที่จะนำไปสู่การผลิตและจำหน่ายในภาคการตลาดและอุตสาหกรรมต่อไป”
นางสาวพีรดา ศุภรพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทสเต็ด เบ็ตเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวด้วยว่า “บริษัทฯ เล็งเห็นถึงคุณค่าในเทคโนโลยีดังกล่าวที่นำข้อดีของการฟรีซดราย หรือ การทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง กับ สเปรย์ดราย หรือ การทำแห้งแบบพ่นฝอย เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้คงคุณภาพ คงสารอาหาร สี กลิ่น รสชาติ อยู่ได้มากที่สุดเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทำได้เร็วกว่าเทคโนโลยีเดิม โดยกรรมวิธีการผลิตน้ำส้มและน้ำมะนาวผงด้วยวิธีการพ่นฝอยแบบแช่เยือกแข็ง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและแนวโน้มทางการตลาดได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การแปรรูปน้ำสับปะรดผง ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการจัดการอาหารที่ไม่เป็นระบบ เช่น การเก็บรักษาผลไม้สดที่เสียได้ง่ายหลังเก็บเกี่ยว แต่เมื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้เป็นผง สามารถเก็บรักษาได้นานและนำไปใช้ต่อในการผลิตอื่น ๆ ได้ง่าย ช่วยลดต้นทุนในการผลิตลง ซึ่งบริษัทฯ มีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีในโอกาสต่อไปด้วย”
รองศาสตราจารย์ ดร.มาโนชญ์ สุธีรวัฒนานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยว่า “กรรมวิธีการผลิตน้ำส้มและน้ำมะนาวผงด้วยวิธีการพ่นฝอยแบบแช่เยือกแข็ง ได้ศึกษาเพื่อหาสภาวะและวิธีการแปรรูปผลไม้เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยนำ 2 วิธีมารวมกัน คือ Spray drying และ Freeze drying เป็น Spray Freeze drying Technology เพื่อแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบที่ไวต่อความร้อน และต้องการรักษาคุณค่าทางอาหาร รสชาติ กลิ่น สี ให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด รวมถึงทำให้อาหารนั้นปลอดภัย เก็บรักษาได้นาน และนำไปใช้ได้อย่างสะดวก ซึ่งกรรมวิธีดังกล่าวเป็นวิธีการแปรรูปที่ทดแทนการใช้ผลไม้สดได้อย่างสมบูรณ์กว่าการแปรรูปแบบอื่น ๆ เนื่องจากสามารถเก็บรักษาคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ กล่าวคือ การทําให้น้ำส้มและน้ำมะนาวอยู่ในรูปผง เมื่อต้องการใช้งานก็เพียงนํามาละลายน้ำให้คืนรูป ซึ่งยังคงคุณภาพของอาหาร เช่น สี กลิ่น รสชาติ ได้ดีใกล้เคียงกับผลไม้สดก่อนการแปรรูป ต่างจากการแปรรูปที่ใช้ความร้อนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของอาหาร ทั้งคุณค่าทางโภชนาการ กลิ่น สี และรสชาติที่สูญเสียไป นอกจากนี้ เทคนิคการพ่นฝอยแบบแช่เยือกแข็งยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างหลากหลายอีกด้วย เช่น น้ำสับปะรดผง สามารถนำไปผสมกับเครื่องดื่มอื่น ๆ เช่น นมสด ชา กาแฟ น้ำเสาวรส โดยไม่ไปเพิ่มปริมาณน้ำหรือทำให้รสชาติของเครื่องดื่มดั้งเดิมเสียรสไป”
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
- มทส. จัดงานเชิดชูเกียรติและขอบคุณ ผู้เข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และผู้รับเข็มกิตติการทองคำ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2566 25 มีนาคม 2568
- พระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และเข็มกิตติการทองคำ 25 มีนาคม 2568
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มทส. 25 มีนาคม 2568
- มทส. รับรางวัล “อาจารย์” และ “สถาบัน” ต้นแบบด้านการสอน รางวัลเกียรติยศระดับชาติ จาก ควอท ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 21 มีนาคม 2568
- อธิการบดี มทส. ได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตเก่าเคมี จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี 2568 20 มีนาคม 2568
- มทส. ร่วมกับ สมาคมวัสดุประเทศไทย แถลงประกาศผลรางวัล “รางวัลนักวิจัยวัสดุดีเด่น รางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น และรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยวัสดุ ประจำปี 2567” และการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านวัสดุศาสตร์ MRS-Thailand 2025 10 มีนาคม 2568
- มทส. ติดอันดับ 9 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำโลก โดย SCImago Institutions Rankings 2025 06 มีนาคม 2568
- มทส. เปิดตัวการประกวดนวัตกรรมเพื่อพัฒนางาน “รางวัลสุรนวัตร” ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวม 160,000 บาท 26 กุมภาพันธ์ 2568
- ขอเชิญร่วมทอดผ้าป่า มทส. ส่งต่อโอกาสเพื่อการศึกษา พร้อมรับของที่ระลึก วัตถุมงคลรุ่น “สุนทรีวาณี-คุณย่าโม” และร่วมออกโรงทาน 11 กุมภาพันธ์ 2568
- นักวิจัย มทส. รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงาน วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2568 03 กุมภาพันธ์ 2568