นักวิจัย มทส. ทะลายข้อจำกัดของพลาสติกชีวภาพ พร้อมพัฒนาสู่ บรรจุภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็ง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นักวิจัย มทส. ทะลายข้อจำกัดของพลาสติกชีวภาพ พร้อมพัฒนาสู่ “บรรจุภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็ง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
ทนความร้อนได้สูง ระดับมาตรฐานกระบวนการนึ่งฆ่าปลอดเชื้อ เพิ่มขีดความสามารถหลากหลายการใช้งาน
วันที่ 22 มีนาคม 2566 ณ ห้องสารนิเทศ อาคารบริหาร มทส. ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี มทส. กล่าวว่า “ จากการเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีเป้าหมายการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคม สร้างผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมระดับประเทศ ควบคู่กับการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางวิชาการให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ การแถลงผลงานวิจัยและนวัตกรรม “บรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋องและอาหารแช่เยือกแข็งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้เชิงชีวภาพ” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย มีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการออกแบบ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. ได้นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม พอลิเมอร์ ผสานกับทักษะการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำให้ได้บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ (Bioplastic) ที่มีคุณสมบัติพิเศษเหมาะกับกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็ง และ บรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋อง ที่ปรับใช้ได้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทยเพิ่มมูลค่าทางการตลาด รองรับการใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ถือเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการที่สนใจได้ทันที สนองตอบโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ด้านไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิภาพ ควบคู่ไปใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่าเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ได้อย่างสมดุล มั่นคงและยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย มีคำ นักวิจัยเจ้าของผลงานเปิดเผยว่า “จากที่ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจกับความปลอดภัยของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเห็นได้จากบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุฐานชีวภาพ (Bio–Degradable Packaging) และย่อยสลายได้ ภายในเวลา 2 - 5 เดือน ตามมาตรฐานกระบวนการฝั่งกลบ ได้รับความสนใจนำมาใช้เป็นภาชนะใส่อาหารมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกทั่วไปที่ผลิตจากปิโตรเคมีใช้เวลาย่อยสลายกว่า 400 ปี สร้างปัญหาขยะตกค้าง และเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม
การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนวัตกรรม “บรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋องและอาหารแช่เยือกแข็งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้เชิงชีวภาพ” ได้ศึกษาวิจัยเพื่อทะลายข้อจำกัดทั่วไป และเพิ่มขีดความสามารถของไบโอพลาสติก (Bioplastic) คือจากปกติที่ทนความร้อนที่ 50 องศาเซลเซียส พัฒนาคุณสมบัติสู่ทนความร้อนได้สูงถึง 150 องศาเซลเซียส และจากผลทดสอบของห้องปฏิบัติการ สามารถพัฒนาต่อยอดเชิงอุตสาหกรรมในแง่บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารกระป๋องได้ตามมาตรฐานกระบวนการผลิตอาหารกระป๋องที่สำคัญคือต้องผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณภูมิ 121 องศาเซลเซียส ด้วยความดันที่ 15 psi (พีเอสไอ) เป็นเวลา 15 นาที จากผลสำเร็จนี้จะช่วยเปิดทางไปสู่การพัฒนาต่อยอดสำหรับอุตสาหกรรมส่งออกอาหารของไทยที่มุ่งขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคที่ใสใจสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งทำให้เพิ่มความหลากหลายในการใช้งานของพลาสติกชีวภาพ ไม่มีข้อด้านรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติรองรับอุตสาหกรรมอาหารแช่เยือกแข็งได้เป็นอย่างดี
สำหรับความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์นั้น จากการศึกษาในแง่ต้นทุน และควบคุมการผลิต สามารถควบคุมต้นทุนให้ไม่สูงมาก หรือใกล้เคียงกับพลาสติกทั่วไปได้ ด้วยปัจจัยหลักคือ วัสดุฐานชีวภาพจากพลาสติก PLA จากวัสดุธรรมชาติมีผู้ผลิตป้อนสู่ท้องตลาดอย่างสม่ำเสมอ และปัจจัยการผลิตแบบฉีดขึ้นรูป ที่สามารถใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเดิมตามปกติ ทำให้ลดต้นทุนส่วนนี้ไปได้มาก ต้นทุนจึงอยู่ที่ประมาณ 50 สตางค์ – 1 บาท ต่อ แพ็ค ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่อนุรักษ์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญมีความปลอดภัยกับผู้บริโภคสูง จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการช่วยผลักดันมูลค่าทางการตลาด โดยบางประเทศในแถบยุโรปได้ออกกฏหมายควบคุมส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์เชิงชีวภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ประกอบกับการที่ประเทศไทยประกาศเป็นครัวโลกมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋องและอาหารแช่เยือกแข็งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งยังย่อยสลายได้เชิงชีวภาพได้เป็นประเทศต้นๆ ของโลก ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค และใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับความต้องการของทั่วโลกที่มุ่งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals–SDGs ที่ครอบคลุมมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และโดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ผู้สนใจติดต่อได้ที่ ผศ. ดร.อุทัย มีคำ สาขาวิชาเทคโนโลยีการออกแบบ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อีเมล์ umsut@sut.ac.th
ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส.
22 มีนาคม 2566
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
- มทส. อันดับ 10 สถาบันอุดมศึกษาที่ชำระหนี้ กยศ. ดีที่สุดของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 11 พฤศจิกายน 2567
- มทส. ติด Top 10 ม.ไทย ในการจัดอันดับ ม.ชั้นนำเอเชีย โดย QS World University Rankings: Asia 2025 07 พฤศจิกายน 2567
- รศ. ดร.อัญญานี คำแก้ว อาจารย์ มทส. รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2567 01 พฤศจิกายน 2567
- ตรวจพื้นที่เตรียมการรับเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 25 ตุลาคม 2567
- มทส. ติดอันดับ 6 ร่วม ม.ชั้นนำของไทย อยู่ในกลุ่ม TOP 3 ม.ด้านเทคโนโลยี จากการจัดอันดับ THE World University Rankings 2025 09 ตุลาคม 2567
- มทส. คว้า 2 รางวัลผลงานนวัตกรรมเพื่อการพัฒนานักศึกษา ด้านสุขภาพจิตและด้านสุขภาวะ ในงานสัมมนาวิชาการด้านพัฒนานักศึกษา ปี 2567 01 ตุลาคม 2567
- มทส. เปิดตัว ฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรม ขนาดกลางและใหญ่ ยกระดับและเพิ่มมูลค่าไข่ผำเพื่อการผลิตโปรตีนทางเลือกสู่ Super Food 18 กันยายน 2567
- มทส. รับรางวัลเชิดชูเกียรติ จากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) 30 สิงหาคม 2567
- ขอเชิญศิษย์เก่า นักศึกษา บุคลากร ร่วมกิจกรรม คืนสู่เหย้า 34 ปี สายใย น้องพี่ เลือดสีแสดทอง ศิษย์ มทส. สัมพันธ์ 29 สิงหาคม 2567
- 34 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พัฒนาสู่อนาคตที่ยั่งยืน Innovate the Future 26 กรกฎาคม 2567