นักวิจัย มทส. คว้าเหรียญเงิน (Silver Medal) การประกวดสิ่งประดิษฐ์ วิจัย และนวัตกรรม The 49th International Exhibition of Inventions Geneva นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

นักวิจัย มทส. คว้าเหรียญเงิน (Silver Medal)  การประกวดสิ่งประดิษฐ์ วิจัย และนวัตกรรม 
“The 49th International Exhibition of Inventions Geneva”
 
รศ. ดร.ศิริรัตน์ ทับสูงเนิน รัตนจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์  ร่วมกับ อ. นพ. พรเทพ ตั้งกาญจนาเวฬุกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) คว้ารางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) จากผลงานนวัตกรรม“วัสดุเสริมกระดูกชนิดแคลเซียมฟอสเฟตแบบผลิตเฉพาะบุคคล” Customized Calcium Phosphate Bone Augmentation  และ รางวัล Special Award จาก King Khalid University, Saudi Arabia จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ วิจัย และนวัตกรรม “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 - 21 เมษายน 2567 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส 
 
 
 
 
ทั้งนี้ การนำนักวิจัยไทย เข้าร่วมประกวดผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ในงาน  “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” เป็นการคัดเลือกโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำเสอนผลงานจากนักวิจัยไทยเทียบเคียงกับผลงานจากนานาประเทศที่เข้าร่วมประกวด ทั้งจากทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกา ซึ่งส่งผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการมากกว่า 1,000 ผลงาน จากกว่า 40 ประเทศ  ทั้งนี้ ในปี 2567 วช. ได้สนับสนุนหน่วยงานเครือข่าย ด้านสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของไทย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน จาก 37 หน่วยงาน ร่วมนำเสนอภายในงาน จำนวน 94 ผลงาน
 
 
 
นวัตกรรม Customized Calcium Phosphate Bone Augmentation หรือ วัสดุเสริมกระดูกชนิดแคลเซียมฟอสเฟตแบบผลิตเฉพาะบุคคล เป็นการพัฒนาวัสดุสำหรับทดแทนกระดูกฝีมือคนไทย ในรูปแบบซีเมนต์กระดูกเพื่อนำไปใช้ในงานด้านศัลยกรรมกระดูก สำหรับการทดแทนกระดูกบริเวณขา ข้อสะโพก หรือส่วนข้อต่อ  รวมทั้งการเสริมเนื้อกระดูกสำหรับผู้ที่ปัญหากระดูกหัก กระดูกพรุนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ โดยงานวิจัยได้รับการพัฒนาจนถึงขั้นการทดสอบด้าน Biological test ตามมาตรฐานของ ISO 10993 Biocompatibility นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ได้ทำการทดสอบในระดับสัตว์ทดลอง (In Vivo) งานวิจัยมีการรับรองได้รับสิทธิบัตร 2 ฉบับ ซึ่งขั้นต่อไปของงานวิจัยคือการขอรับรองมาตรฐานวัสดุทางการแพทย์ตามมาตราฐานของ อย. และการทดสอบในระดับคลินิกเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ต่อไป
 
   

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง