ฟาร์ม มทส. – บ. คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จก. จัด Workshop ระดมสมองพัฒนาโครงการเกษตรอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียนอย่างยั่งยืน

ฟาร์ม มทส. – บ. คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จก. จัด Workshop 
ระดมสมองพัฒนาโครงการเกษตรอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียนอย่างยั่งยืน
 
 
ฟาร์มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (ฟาร์ม มทส.) ร่วมกับ บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โครงการเกษตรอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียน ปี 2568 ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม 2568 เพื่อระดมความคิดเห็นและนำไปพัฒนากิจกรรมของโครงการฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงแนวทางในการดำเนินโครงการฯ อย่างยั่งยืน โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการจากโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดสระบุรีที่เข้าร่วมโครงการฯ 31 แห่ง รวมทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวม 85 คน เข้าร่วมการประชุมสัมมนา ณ โรงแรมเซ็นทารา โคราช จ.นครราชสีมา
 
 
 
 
ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ชัย จิตตะมัย รองอธิการบดีฝ่ายการเงิน ทรัพย์สิน และวิสาหกิจ  มทส. ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุทธ เกิดไทย รักษาการแทนรองผู้จัดการฟาร์ม มทส. กล่าวถึงบทบาทของฟาร์ม มทส. ที่ดูแลรับผิดชอบโครงการฯ อาจารย์ ดร.สิริเชษฐ์ รัตนะชิตธวัช รักษาการแทนคณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยบูรพา (วิทยาเขตสระแก้ว) กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมโครงการฯ และ นายสุเกียรติ กิตติธรรมโชติ ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์และองค์กรสัมพันธ์ บริษัท คาร์กิลล์สยาม จำกัด กล่าวถึงแนวทางการดำเนินโครงการเกษตรอาหารกลางวัน ปี 2568 อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน  
 
 
 
 
ทั้งนี้ โครงการเกษตรอาหารกลางวันให้โรงเรียน เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ฟาร์ม มทส. กับ บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยบูรพา (วิทยาเขตสระแก้ว) ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรม เพื่อให้ได้ผลผลิตนำไปประกอบเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน โดยมี ฟาร์ม มทส. สนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร นำเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน ครู ให้สามารถดำเนินกิจกรรมและมีผลผลิตที่ได้คุณภาพ ให้เด็ก ๆ มีโอกาสเข้าถึงอาหารกลางวัน เพิ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร โรงเรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงมีแผนในอนาคตผลักดันให้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้แบบยั่งยืน โดยกิจกรรมมุ่งเน้นการปลูกผักด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลา และการเพาะเห็ด และการปลูกพืชบนดิน ซึ่งดินมาจากผลงานวิจัยของ มทส. ที่มีค่าสารอาหารของพืชเกือบทุกชนิด ในภาพรวมตลอดระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี สามารถทำให้เด็กนักเรียนเข้าถึงอาหารกลางวันจากผลผลิตของโครงการฯ และได้รับประโยชน์จากโครงการฯ จำนวน 6,311 คน ตลอดจนองค์ความรู้ที่เด็กนักเรียนได้รับการถ่ายทอดจะเป็นพื้นฐานและแนวทางการเลือกศึกษาต่อในอนาคตได้อีกด้วย
 
 
 
 
ส่วนประชาสัมพันธ์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 
21 มกราคม 2568

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง