ตัวแทนสมาชิก ทปอ. ยื่นผลงานการศึกษาแนวทางปฏิรูปประเทศ 6 ด้าน ให้กับประธาน สปช.


ตัวแทนสมาชิก ทปอ. ยื่นผลงานการศึกษาแนวทางปฏิรูปประเทศ 6 ด้าน ให้กับประธาน สปช.

 นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะรักษาการประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พร้อมด้วยนักวิชาการที่เป็นคณะทำงานศึกษาการปฏิรูปตามมติที่ประชุม ทปอ. โดยหนึ่งในนั้นประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ยื่นข้อศึกษาและข้อเสนอแนะจากคณะทำงานทั้ง 6 ด้าน ต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิรูปประเทศและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ ผลการศึกษาการปฏิรูปทั้ง 6 ด้าน ของ ทปอ. มีสาระสำคัญ คือ

1.การปฏิรูปการเมือง เสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทางการเมือง โดยแยกอำนาจบริหารออกจากอำนาจนิติบัญญัติ ด้วยวิธีให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงแบบเดียวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ขณะที่ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง และมีที่มาจากการเลือกตั้งในพื้นที่และการเลือกตั้งผ่านสาขาอาชีพ โดยจำนวนส.ส.ต้องมีความเหมาะสมกับฐานประชากรแต่ละพื้นที่ สำหรับหน้าที่ของส.ส.คือด้านนิติบัญญัติและตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารเท่านั้น ห้ามไปดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหารอย่างเด็ดขาด

ส่วน ส.ว.นั้นอาจจะมีหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับการกำหนดอำนาจและหน้าที่ นอกจากนั้นได้เสนอให้เพิ่มสภาพลเมือง ที่มีจำนวนไม่เกิน 900 คน มาจากประธานสภาเทศบาลเลือกกันเองทั่วประเทศ อำเภอละ 1 คน โดยมีอำนาจตรวจสอบและติดตามการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร, ปฎิรูปพรรคการเมืองไม่ให้กลุ่มทุนครอบงำ ด้วยวิธีให้มีสมาชิกกระจายอยู่ทุกภาค, รัฐต้องสนับสนุนทุนให้พรรคการเมือง เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองได้ และให้มีมาตรการทางภาษีเพื่อให้ประชาชนสามารถบริจาคเงินแก่พรรคการเมืองได้อย่างเปิดเผย, ปฏิรูประบบผลตอบแทนให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยปรับระบบสวัสดิการและข้อห้ามต่างๆ ที่เหมาะสม พร้อมมีมาตรการป้องกันการทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อน

2.ปฏิรูปเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ โดยเน้นรูปแบบของอค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปกครองแต่ละพื้นที่ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจสอบถ่วงดุล ขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั้น ตำแหน่งผู้บริหารต้องมาจากการเลือกตั้ง ขณะที่สภาท้องถิ่นต้องมาจาก 2 ระบบคือเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่และการสรรหาจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ

3.ปฏิรูปการศึกษา ด้วยกระบวนการพัฒนาครูให้เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า พร้อมวางระบบผลิตและมาตรการจูงใจให้คนเข้าสู่วิชาชีพ, กระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อสร้างทักษะชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้เรียนเพื่อความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งต่อไป นอกจากนั้นต้องจัดระบบการศึกษาอย่างมีคุณภาพอย่างทั่วถึง โดยมีเป้าหมายคือเพิ่มศักยภาพและพัฒนากำลังคน

4.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ด้วยวิธียุติธรรมทางเลือกมาสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมแบบมีส่วนร่วมของชุมชน เพิ่มการคุ้มครองสิทธิทั้งผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และผู้ต้องโทษ ขณะที่องค์กรยุติธรรมต้องปราศจากการุทจริตคอร์รัปชั่น เปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบการทำงาน

5.ปฏิรูปด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่น ด้วยการตั้งคณะกรรมการมหาวิทยาลัยสีขาว ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาวิชาต่างๆ โดยนำโครงการบัณฑิตไม่โกงมาขยายผลและประสานงานกับมหาวิทยาลัยที่ร่วมเป็นกรรมการ ส่วนกลไกทำงาน คือ จัดให้มีหน่วยงานที่เป็นไปตามความสมัครใจของผู้มีส่วนได้เสีย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนิสิตหรือนักศึกษา, กลุ่มสภาอาจารย์หรืออาจารย์ทั่วไป และ ฝ่ายสนับสนุน คือ ฝ่ายบริหารและพนักงานมหาวิทยาลัย โดยมีภารกิจในการสร้างประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กร ขณะที่องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องกำหนดให้เร่งดำเนินการในคดีต่างๆ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมต้องมีการบูรณาการร่วมกันเพื่อพัฒนาองค์กรให้เป็นต้นแบบของความโปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

6.ปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยวิธีเพิ่มค่าใช้จ่ายเรื่องการวิจัยและพัฒนารวมของประเทศ พร้อมเพิ่มสัดส่วนการลงทุนวิจัยภาคเอกชน ร้อยละ 70 ภาครัฐร้อยละ 30 รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จัดตั้งห้องปฏิบัติการหรือศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัยระดับชาติ พร้อมกับนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยเพิ่มและกระจายรายได้ในจังหวัดต่างๆ ของประเทศ และยกระดับการพัฒนาสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง