สสส.จับมือ 8 มหาวิทยาลัยสุขภาวะ ใช้ Happinometer ปรอทวัดความสุขของคนในชาติ
จับตาสถานการณ์ความสุขคนทำงานในประเทศไทย พบความสุข ด้านการผ่อนคลาย และ การเงิน ตกต่ำ สวนทางกับการเติบโตของจีดีพี ผุดไอเดียเจ๋ง สร้างชุดเครื่องมือ HAPPINOMETER เพื่อชี้วัดและเพิ่มมาตรฐานความสุขให้ถูกจุด เผย...องค์กรชั้นนำในญี่ปุ่นนำไปใช้ และมีอีกหลายประเทศขานรับ
ความสุข เป็นเป้าหมายสูงสุดที่มนุษย์ปรารถนา ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นผลจากรายได้สูงขึ้น ทั้งที่เหตุปัจจัยอาจมีมากกว่านั้น และยืนยันได้จากงานวิจัยด้านความสุขที่จัดทำโดยนักวิชาการทั้งไทยและเทศหลายสำนัก พบว่า การมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ได้ช่วยให้ความสุขเพิ่มขึ้นเสมอไป เพราะความต้องการและการเปรียบเทียบของคนในสังคมมีเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา นอกเหนือจากความสำเร็จทางการศึกษา การมีงานทำ การมีชีวิตครอบครัวที่ดี แล้ว การมีสุขภาพที่ดี การมีคุณธรรม ความมีน้ำใจ ความสัมพันธ์ทางสังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงในชีวิตและการงาน อิสรภาพ ความยุติธรรมทางสังคม ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขทั้งสิ้น
ดังนั้น การวัดความสุขของคนในชาติหรือแม้กระทั่งในองค์กรที่ต้องการทราบสถานการณ์ความสุขของบุคลากรในองค์กรนั้นๆ จึงควรมีวิธีการวัดที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ และแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง
|
|
รศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นหัวหน้าโครงการ “จับตาสถานการณ์ความสุขของคนทำงานในประเทศไทยช่วงปี 2554-2557” โดยการสนับสนุนการวิจัยของสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการพัฒนาสร้างเสริมองค์ความรู้ พัฒนาเครือข่ายและพัฒนานโยบายสาธารณะ ได้ร่วมมือกัน พัฒนา “ชุดเครื่องมือสร้างสุขแบบครบวงจร HAPPINOMETER: HAPPINOMETER Happiness Package” ซึ่งประกอบด้วย 2 โปรแกรมได้แก่
|
|
โปรแกรมที่ 1
การวัดคุณภาพชีวิตและความสุขของบุคลากรในองค์กร ด้วยเครื่องมือวัดความสุข “HAPPINOMITER: ปรอทวัดความสุขด้วยตนเอง” สามารถนำผลที่วัดได้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขของพนักงานที่อยู่ในองค์กรได้ทันที
เครื่องมือวัดความสุข HAPPINOMETER พัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตและความสุขคนทำงานที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านการทำงาน สุขภาพกาย จิต วิญญาณ ครอบครัว และการใช้ชีวิต
เครื่องมือวัดความสุขดังกล่าว ประกอบด้วย ชุดข้อมูลหลัก 2 ส่วน ได้แก่
● ส่วนที่ 1 เป็นข้อมูลทั่วไป ประกอบด้วยข้อมูล เพศ อายุ การศึกษาสูงสุด สถานภาพสมรส จำนวนบุตร ส่วนงาน ลักษณะงาน ระยะเวลาที่ทำงาน
● ส่วนที่ 2 เป็น ส่วนสำคัญของการวัด คุณภาพชีวิต ความสุข ความผูกพันองค์กร และ องค์กรแห่งความสุข ส่วนนี้ ครอบคลุม 9 มิติ ของ HAPPINOMETER ได้แก่ มิติที่ 1 สุขภาพดี (Happy Body) มิติที่ 2 ผ่อนคลายดี (Happy Relax) มิติที่ 3 น้ำใจดี (Happy Heart) มิติที่ 4 จิตวิญญาณดี (Happy Soul) มิติที่ 5 ครอบครัวดี (Happy Family) มิติที่ 6 สังคมดี (Happy Society) มิติที่ 7 ใฝ่รู้ดี (Happy Brain) มิติที่ 8 สุขภาพเงินดี (Happy Money) และ มิติที่ 9การงานดี (Happy Work-life)
โปรแกรมที่ 2
เป็นการใช้วิธีการอบรมเชิงปฏิบัติการระยะสั้น ด้วยหลักสูตร “การบริหารจัดการองค์ความรู้สู่ความสุขในการทำงาน” โดยการนำผลที่ได้จากการวัดคุณภาพชีวิตและความสุขด้วยโปรแกรมที่ 1 มาใช้พัฒนาสร้างเสริมคุณภาพชีวิตและความสุขของคนทำงาน
ชุดเครื่องมือ HAPPINOMETER (HAPPINOMETER Happiness Package) ในองค์กรและมีการติดตามประเมินผลการดำเนินการพัฒนาสร้างเสริมคุณภาพชีวิตและความสุขอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผลการวัดความสุขจากโปรแกรมที่ 1 คนทำงานสามารถนำผลที่ได้มาสร้างเสริมคุณภาพชีวิตและความสุขของตนเองได้ทันทีอีกด้วย
|
|
รศ.ดร.ศิรินันท์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า HAPPINOMETER สามารถเลือกใช้ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ แบบกรอกลงในเล่ม (Paper-base) กรอกผ่าน software ระบบออนไลน์ (Online-base) และ กรอกผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ (Mobile App-base) ปัจจุบัน มีภาษาให้เลือกใช้ได้ทั้งหมด 10 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ จีน เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ญี่ปุ่น ซึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นตอนนี้มีการนำเครื่องมือนี้ไปวัดระดับความสุขของพนักงานในบริษัท NTT Docomo
นอกจากนี้เครื่องมือ HAPPINOMETER ยังได้ต่อยอดเพื่อศึกษาวิจัยองค์ความรู้ แนวคิด และ ทฤษฎี เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตและความสุข โครงการ “นวตกรรมสร้างสุข: บูรณาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะแห่งประเทศไทย” เพื่อสร้างมหาวิทยาลัยสุขภาวะต้นแบบ ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. โดยมีมหาวิทยาลัยที่เป็นภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข รวม 8 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหิดล ราชภัฏเทพสตรี วลัยลักษณ์ สงขลานครินทร์ และ อุบลราชธานี
HAPPINOMETER มุ่งเน้นให้ คนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนทำงาน ที่เป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาประเทศ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ได้ทำงานในองค์กรแห่งความสุข “Happy Workplace” การพัฒนาเป็นไปอย่างมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร เพื่อให้องค์กรทุกภาคส่วนมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อความสุขของคนในชาติอย่างยั่งยืน
ขอบคุณข่าวจาก : http://www.manager.co.th/GoodHealth/ViewNews.aspx?NewsID=9580000030653
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
- มทส. ประกาศเจตนารมณ์ส่งเสริมความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต ปี 2568 19 พฤศจิกายน 2567
- ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 26 กันยายน 2567
- รายงานการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาสำหรับหน่วยงาน 19 เมษายน 2567
- รายงานการรับของขวัญและของกำนัลตามนโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่ 19 เมษายน 2567
- รายงานผลการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงาน 19 เมษายน 2567
- ขอเชิญนักศึกษา ผู้ประกอบการ ผู้รับบริการ กับ มทส. ตอบแบบวัด EIT การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ 27 มีนาคม 2567
- Workshop I in PRIDE : พฤติกรรมควรทำ-ไม่ควรทำ ของชาว มทส. 21 มีนาคม 2567
- ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกร่วมตอบแบบ EIT ประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส มทส. 18 มีนาคม 2567
- มทส. แสดงเจตจำนงต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ No Gift Policy 16 มกราคม 2567
- นโยบายไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ 28 ธันวาคม 2566