นักวิจัย มทส. สร้างห้องเพาะเลี้ยง แตนเบียนเพลี้ยแป้งสีชมพู

นักวิจัย มทส. สร้างห้องเพาะเลี้ยง แตนเบียนอะนะจีรัส โลเปซี (Anagyrus lopezi Santis) แบบครบวงจรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพู พร้อมเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้วิธีทางธรรมชาติให้กับเยาวชน หวังปลูกฝังจิตสำนึกเกษตรกรยุคใหม่ใช้วิถีทางธรรมชาติกำจัดศัตรูพืชแทนการใช้สารเคมี ผ่านโครงการบริการวิชาการส่งเสริมการผลิตขยายศัตรูธรรมชาติเพื่อช่วยควบคุมแก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและโครงการกีฏน้อยมือปราบแมลง
อาจารย์ ดร.รุจ มรกต หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร หัวหน้าอุทยานการเรียนรู้สิรินธร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้เปิดเผยถึง โครงการบริการวิชาการส่งเสริมการผลิตขยายศัตรูธรรมชาติ เพื่อช่วยควบคุมแก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า “โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้เกษตรกรและเยาวชนรุ่นใหม่ได้เข้าใจและมีความรู้ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมันสำปะหลัง โดยใช้วิถีทางธรรมชาติกำจัดแทนการใช้สารเคมี รวมทั้งช่วยควบคุมและแก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง หากเกิดการระบาดขึ้นอีก ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปี 2551- 2553 ประเทศไทยพบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู (cassava mealybug) Phenacoccus manihoti Matile-Ferrero ซึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศบราซิลและปารากวัยแถบทวีปอเมริกาใต้ เข้ามาระบาดอย่างกว้างขวาง รวดเร็วและรุนแรง โดยระบาดเป็นวงกว้างถึง 45 จังหวัด ในพื้นที่ 229,099 ไร่ ทำให้ผลผลิตของประเทศลดลงมากกว่า 25 % โดยในปี 2553 ได้มีการร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนรวมทั้งเกษตรกร ในการดำเนินการป้องกันกำจัดในระดับประเทศมาอย่างต่อเนื่องโดยวิธีผสมผสาน อาทิ การเลือกฤดูและวิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสมเพื่อเลี่ยงการระบาดที่รุนแรง การตากดินอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อทำลายหรือลดปริมาณไข่และตัวอ่อนของเพลี้ยแป้งที่หลงเหลือในดิน การใช้สารเคมีในการแช่ท่อนพันธุ์ การกำจัดโดยวิธีกล เช่น วิธีการถอน ตัดยอด หรือไถทิ้ง เมื่อพบการระบาดโดยพิจารณาวิธีการกำจัดเพลี้ยแป้งตามช่วงระยะการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง การใช้ชีววิธี เช่น การอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ตัวห้ำพวกด้วงเต่าลาย และแมลงช้างปีกใส รวมทั้งการแก้ปัญหาระยะยาวโดยการนำเข้าแตนเบียน A. lopezi ที่ได้มีการใช้เป็นผลสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชแบบผสมผสาน
ทั้งนี้จากการระบาดดังกล่าวในปี 2554 - 2555 มทส. ในฐานะมหาวิทยาลัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรและศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดนครราชสีมา จัดตั้งศูนย์การผลิตแตนเบียนเพื่อปล่อยในพื้นที่ระบาดในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดยโสธร จำนวน 1,300,000 ตัว ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์การระบาดอยู่ในระดับไม่สร้างความเสียหาย หากยังคงต้องมีการเฝ้าระวังการระบาดในอนาคต จึงได้ดำเนินการเพาะเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนและการศึกษาวิจัยของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา และใช้ประกอบการให้ความรู้ด้านการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยวิถีทางธรรมชาติแก่เกษตรกรตามโครงการให้บริการวิชาการส่งเสริมการผลิตขยายศัตรูธรรมชาติ เพื่อช่วยควบคุมแก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเยาวชนในโครงการกีฏน้อยมือปราบแมลง โดยทั้งสองโครงการจะเน้นให้เกษตรกรและเยาวชน ได้รู้จักชนิดของศัตรูมันสำปะหลัง ศัตรูธรรมชาติ การเฝ้าระวัง และวิธีการป้องกันกำจัดและการผสมผสาน เพื่อนำไปสู่วิถีของการใช้ธรรมชาติในการกำจัดศัตรูพืชอย่างยังยืน
สำหรับศูนย์การเพาะเลี้ยงแมลง แตนเบียน A. lopezi ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารีนั้น เป็นการเพาะเลี้ยงแบบครบวงจรตามห่วงโซ่อาหาร 3 ส่วนได้แก่ การผลิตต้นมันสำปะหลังและตัวอ่อนวัยหนึ่ง 1 และ 2 ของเพลี้ยแป้ง โดยใช้ท่อนพันธุ์ขนาด 20 ซม. ปลูกในกระถางปลูกพืช ขนาด 8 นิ้ว ประมาณ 45 วัน นำไปล่อตัวอ่อนวัย 1 บนกรงเลี้ยงเพลี้ยแป้ง โดยวางไว้ประมาณ 1 วัน จากนั้นทิ้งไว้ในห้องที่มีแสงเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นมันสำปะหลังประมาณ 7 วัน จึงใช้กรรไกรตัดส่วนของมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยแป้งวัย 2 ไปวางบนผลฟักทองในลำดับต่อไป การผลิตเพลี้ยแป้งวัย 3 และตัวเต็มวัยเป็นปริมาณมากโดยเตรียมผลฟักทองกึ่งอ่อนกึ่งแก่มาล้างให้สะอาดด้วยสบู่เดทตอลและแต้มแผลด้วยปูนแดงเพื่อป้องกันเชื้อราที่จะทำให้ฟักทองเน่าได้ พึ่งให้แห้งสนิท หลังจากนั้นวางส่วนของมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยแป้งวัย 2 ทิ้งไว้ประมาณ 16 วัน เพลี้ยแป้งเกือบทั้งหมดบนชิ้นส่วนมันสำปะหลังจะลงไปอยู่บนผลฟักทองจนเกือบหมด สามารถนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์แตนเบียนได้ จากนั้นจะเข้าสู่การขบวนการ การผลิตแตนเบียนโดยเลี้ยงในกรงเลี้ยงที่ทำจากท่อพีวีซีขนาด 50x100x50 ซม. คลุมด้วยผ้าข้าวบางด้านหน้ามีซิปใช้เปิดปิดกรงได้ รองพื้นกรงด้วยกระดาษซับอย่างหนาเพราะเพลี้ยจะขับถ่ายมูลหวานออกมามากทำให้ชื้นและเหนียวมีผลต่อการเจริญของเชื้อราดำ รองลูกฟักทองด้วยก้นขวดน้ำ ขนาดเล็กที่ตัดให้สูงประมาณ 10 ซม. วางผลฟักทองทีมีเพลี้ยแป้งวัย 3 ประมาณ 10 ผลต่อกรง ปล่อยแตนเบียนต่อจำนวนเพลี้ยแป้งในอัตราส่วน แตนตัวเมีย 1 ตัว ตัวต่อเพลี้ยแป้ง 20 ตัว ทิ้งไว้ประมาณ 16 วัน จะเริ่มมีแตนเบียนฟักออกมาให้เก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องดูดแมลงที่ดัดแปลงจากมอเตอร์ให้อากาศในตู้ปลา ทำการเก็บเกี่ยวเป็นเวลา 10 วันจึงโละทิ้งทำความสะอาดกรงเพื่อเตรียมไว้ใช้ในรอบต่อไป ทั้งนี้ มทส. สามารถผลิตแตนเบียนได้ 3,000 – 5,000 ตัว/สัปดาห์ โดยตัวเต็มวัยของแตนเบียนจะมีจะทำลายเหยื่อโดยการวางไข่ลงไปในตัวเพลี้ยแป้งเรียกว่าการเบียน (parasitism) แตนเบียนมักเลือกเบียนเพลี้ยแป้งวัย 3 ขึ้นไป เมื่อหนอนแตนเบียนฟักออกจากไข่จะกินน้ำเลี้ยงในตัวเพลี้ยแป้ง เจริญเติบโตจนครบวงจรชีวิตเป็นตัวเต็มวัย เจาะออกมาจากซากเพลี้ยแป้งทำให้เพลี้ยแป้งตาย บางครั้งตัวเต็มวัยแตนเบียนจะห้ำเหยื่อโดยใช้อวัยวะวางไข่แทงตัวเพลี้ยแป้งทำให้ของเหลวในตัวเพลี้ยแป้งไหลออกมาก่อน แล้วจึงเลียกินเพื่อสร้างไข่และเพิ่มพลังงานในการออกล่าเหยื่อ โดยแตนเบียนที่ผลิตได้ทาง มทส. ได้นำไปใช้ในแปลงปลูกของเกษตรกรที่พบปัญหาการระบาดและมอบให้กับศูนย์บริหารศัตรูพืชนครราชสีมา”อ.ดร.รุจกล่าวในที่สุด
ทั้งนี้เกษตรกรและเยาวชนที่ต้องการเข้าอบรมในโครงการสามารถติดต่อได้ที่ อุทยานการเรียนรู้สิรินธร เทคโนธานี โทรศัพท์ 0 4422 4850 ในวันและเวลาทำการ
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
- มทส. จัดงานเชิดชูเกียรติและขอบคุณ ผู้เข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และผู้รับเข็มกิตติการทองคำ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2566 25 มีนาคม 2568
- พระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และเข็มกิตติการทองคำ 25 มีนาคม 2568
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มทส. 25 มีนาคม 2568
- มทส. รับรางวัล “อาจารย์” และ “สถาบัน” ต้นแบบด้านการสอน รางวัลเกียรติยศระดับชาติ จาก ควอท ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 21 มีนาคม 2568
- อธิการบดี มทส. ได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตเก่าเคมี จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี 2568 20 มีนาคม 2568
- มทส. ร่วมกับ สมาคมวัสดุประเทศไทย แถลงประกาศผลรางวัล “รางวัลนักวิจัยวัสดุดีเด่น รางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น และรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยวัสดุ ประจำปี 2567” และการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านวัสดุศาสตร์ MRS-Thailand 2025 10 มีนาคม 2568
- มทส. ติดอันดับ 9 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำโลก โดย SCImago Institutions Rankings 2025 06 มีนาคม 2568
- มทส. เปิดตัวการประกวดนวัตกรรมเพื่อพัฒนางาน “รางวัลสุรนวัตร” ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวม 160,000 บาท 26 กุมภาพันธ์ 2568
- ขอเชิญร่วมทอดผ้าป่า มทส. ส่งต่อโอกาสเพื่อการศึกษา พร้อมรับของที่ระลึก วัตถุมงคลรุ่น “สุนทรีวาณี-คุณย่าโม” และร่วมออกโรงทาน 11 กุมภาพันธ์ 2568
- นักวิจัย มทส. รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงาน วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2568 03 กุมภาพันธ์ 2568