มทส. นำผลงานวิจัยร่วม Thailand Pavilion ในงาน BIO 2019 เพิ่มโอกาสขยายงานวิจัยและนวัตกรรมด้าน Health and Wellness

ศูนย์บรรณสาร

 มทส. นำผลงานวิจัยร่วม Thailand  Pavilion ในงาน BIO 2019
เพิ่มโอกาสขยายงานวิจัยและนวัตกรรมด้าน  Health and Wellness

 

         มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พ.ท. นพ. บุระ สินธุภากร หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวกลศาสตร์ทางการแพทย์ อาจารย์ ดร.มัลลิกา สังข์สนิท หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านความเป็นผู้ประกอบการ อาจารย์ ดร.นิศาชล จำนงศรี ผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัย “การพัฒนา Korat Health and Wellness Innovation City” และคณะ ได้เดินทางเข้าร่วมงาน Bio International Convention 2019 (BIO 2019) ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน Bio Medical จากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานชั้นนำในระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เมืองฟิลลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 3-6 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา

 

 

     รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี มทส. กล่าวว่า งาน BIO International Convention 2019 มีผู้จัดแสดงผลงานมากกว่า 1,800 หน่วยงาน จาก 67 ประเทศทั่วโลก การเข้าร่วมงานดังกล่าว คณะจาก มทส. นำงานวิจัยที่มีศักยภาพในด้านการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ระดับนานาชาติจัดแสดง ณ Thailand  Pavilion ร่วมกับ TCELS และ BOI จำนวน 4 ผลงาน ได้แก่ เครื่องวิเคราะห์คลื่นสมอง เครื่องวิเคราะห์ภาพตัดขวางของเนื้อเยื่อโดยเทคนิค Optical Coherence Tomography อุปกรณ์สำหรับตรวจสอบและคัดแยกคุณภาพตัวอสุจิ และเจลรักษาสิวสมุนไพรไทย เพื่อหาความสัมพันธ์กับบริษัทคู่ค้าในต่างประเทศ

     การเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เป็นการทดลองการนำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไปใช้หาแนวโน้มระดับการใช้ประโยชน์ระดับนานาชาติ เป็นการมองโอกาสของธุรกิจทางงานวิจัยและนวัตกรรมด้าน  Health and Wellness ทั้งยังเน้นการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและบุคลากรที่จะทำหน้าที่ในการนำงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ การเดินทางเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ผู้แทนมหาวิทยาลัยได้มีการประชุมหารือร่วมกับผู้บริหาร TCELS BOI คณะอุปฑูตไทยจากวอชิงตัน ดี.ซี. และผู้แทนจากสถานทูตไทยในแคนาดา เพื่อหาแนวทางความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการศึกษา การวิจัย การลงทุนและแลกเปลี่ยนต่าง ๆ และคณะผู้ร่วมงานยังได้มีโอกาสศึกษาการสร้างระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์ของมลรัฐนิวเจอร์ซี เดลาแวร์ และเพนซิลเวเนีย ที่เป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งของโลกในการพัฒนายา เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมของ มทส. ด้วย

 



ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง