มทส. ร่วมกับ สมาคมวัสดุประเทศไทย แถลงประกาศผลรางวัล “รางวัลนักวิจัยวัสดุดีเด่น รางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น และรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยวัสดุ ประจำปี 2567” และการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านวัสดุศาสตร์ MRS-Thailand 2025

ศูนย์บรรณสาร
มทส. ร่วมกับ สมาคมวัสดุประเทศไทย แถลงประกาศผลรางวัล 
“รางวัลนักวิจัยวัสดุดีเด่น รางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น และรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยวัสดุ ประจำปี 2567”
และการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านวัสดุศาสตร์ MRS-Thailand 2025
 
สมาคมวิจัยวัสดุ ประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดงานแถลงข่าวประกาศผล “รางวัลนักวิจัยวัสดุดีเด่น รางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น และรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยวัสดุ” ประจำปี 2567 เตรียมเข้ารับรางวัลเกียรติยศในการประชุมวิชาการนานาชาติ MRS-Thailand 2025  เวทีในการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ของนักศึกษา นักวิจัย และคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัสดุทั้งในและต่างประเทศ จัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ณ กรุงเทพมหานคร
 
 
 
วันนี้ (10 มีนาคม 2568) ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพมหานคร รองศาสตราจารย์ ดร. อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)  เป็นประธานงานแถลงข่าวประกาศผล “รางวัลนักวิจัยวัสดุดีเด่น รางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น และรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยวัสดุ” ประจำปีพุทธศักราช 2567 หรือ Thailand Materials Researcher Awards 2024 ร่วมกับ สมาคมวิจัยวัสดุ ประเทศไทย (The Materials Research Society of  Thailand)   โดยผู้รับรางวัลจะเข้ารับรางวัลในงานประชุมวิชาการนานาชาติ MRS-Thailand 2025 ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14 – 16 พฤษภาคม 2568  ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลียร์ กรุงเทพมหานคร 
 
 
ศาสตราจารย์ ดร. สันติ แม้นศิริ นายกสมาคมวิจัยวัสดุ ประเทศไทย  กล่าวว่า รางวัลนักวิจัยวัสดุดีเด่น รางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น และรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยวัสดุ ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยสมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ประกาศผลรางวัลเป็นครั้งที่สอง นับแต่มีรางวัลครั้งแรกเมื่อปี 2565 เพื่อมุ่งเชิดชูเกียรตินักวัสดุศาสตร์ไทยทั้งในภาครัฐและเอกชนที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ เสริมสร้างแรงจูงใจให้นักวิชาการและนักวัสดุศาสตร์ที่มีความสามารถสูงได้ร่วมกันพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ของไทย ให้มีศักยภาพที่สามารถแข่งขันในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ระดับโลก อีกทั้ง เพื่อส่งเสริมให้มีนักวิจัยหน้าใหม่ด้านการวิจัยด้านวัสดุศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมี ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ กรรมการและเลขานุการพิจารณารางวัล พร้อมด้วยนักวิจัย คณะผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความยินดี ทั้งนี้ คณะกรรมการได้ดำเนินการพิจารณาและคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถเป็นผู้มีผลงานทางด้านวัสดุศาสตร์ นวัตกรรมวัสดุและวิศวกรรมวัสดุ จำนวน 5 ท่าน ดังนี้
 
“รางวัลนักวิจัยวัสดุดีเด่น ประจำปี 2567” ได้แก่
รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา  สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทำการศึกษาและวิจัยทางด้านเทคโนโลยีควอนตัมและวัสดุขั้นสูง
 
 
 
“รางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น ประจำปี 2567” จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ 
1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ พัฒนสัตยวงศ์ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี 
   ทำการศึกษาและวิจัยทางด้านวัสดุไฮบริดสารกึ่งตัวนำยุคใหม่
2) รองศาสตราจารย์ ดร.ปุริม จารุจำรัส คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 
   ทำการศึกษาและวิจัยทางด้านเคมีวิเคราะห์และเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง
3) รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ ประเสริฐธรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์‍มหาวิทยาลัย 
   ทำการศึกษาและวิจัยทางด้านวิศวกรรมการเร่งปฏิกิริยาเชิงคำนวณ
 
“รางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยวัสดุ ประจำปี 2567” จำนวน 1 ท่าน ได้แก่
ศาสตราจารย์ ดร.วิทยา อมรกิจบำรุง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการศึกษาและวิจัยทางด้านฟิสิกส์ของแข็งและวัสดุศาสตร์ 
 
สำหรับพิธีมอบรางวัลรางวัลนักวิจัยวัสดุดีเด่น รางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น และรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยวัสดุ ประจำปี พ.ศ. 2567 ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ  The 5th Materials Research Society of Thailand International Conference in conjunction with the 1st  ECS Thailand Meeting (MRS-THAILAND 2025 ) ในวันที่ 14 – 16 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลียร์ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีการประชุม  โดยมี สมาคมวัสดุประเทศไทย เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหน่วยงานต่างๆ คือ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น 
 
 
การประชุมครั้งนี้ จะเป็นเวทีในการพบปะนักวิจัยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวัสดุทั้งในและต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายงานวิจัยระดับนานาชาติ ซึ่งในงานประชุมประกอบด้วย 14 Symposium ที่ครอบคลุมขอบเขตงานวิจัยด้านวัสดุทั้งหมด และได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในรูปแบบการนำเสนอแบบบรรยายโปสเตอร์ นอกจากนี้ผลงานที่ผ่านการ Peer Review จะได้นำไปตีพิมพ์ในวารสารในระดับสากลกว่า 9 วารสาร  นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งคณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากทั่วประเทศ กว่า 600 คน จะได้รับความรู้ และความก้าวหน้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีวัสดุในระดับสากล ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันจะเกิดแนวความคิดใหม่ๆ ในการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม นำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการทำวิจัยและการเรียนการสอนต่อไปในอนาคต 
 
ภาพกิจกรรม : https://www.facebook.com/share/p/18nS8bZ5gw/
 
ส่วนประชาสัมพันธ์ มทส
10 มีนาคม 2568
 


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง